“รอยัล พารากอน ฮอลล์” ยกชั้นแข่งเวทีโลก เปิดเกมรุกชิงเค้กตลาดต่างประเทศ

ศุกร์ ๒๑ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๒๖
รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์กลางสถานที่จัดงานระดับโลกใจกลางเมืองหนึ่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถครองความเป็นผู้นำการให้บริการสถานที่จัดงานระดับพรีเมี่ยมมาตลอด 11 ปี และเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำศูนย์กลางสถานที่จัดงานระดับเวิลด์คลาส (World Class Venue) โดยมุ่งพัฒนาบุคลากร และชู 3 มาตรฐานระดับโลกเพื่อยกระดับการบริการให้เป็นมืออาชีพในสายตาต่างชาติ

นายทาลูน เทง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับการแข่งขัน และยกระดับการให้บริการ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯได้พัฒนาทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และกายภาพต่างๆ โดยในการพัฒนาบุคลากรนั้นได้จัดส่งบุคลากรในระดับบริหารเข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาทุกวิถีทางในการยกระดับการให้บริการเทียบเท่ากับเวิลด์คลาส

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบุคลากรที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการให้บริการแบบมืออาชีพ ในหลักสูตรที่เรียกว่า CEM (Certified in Exhibition Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) นำเอาหลักสูตรนี้เข้ามาพัฒนาบุคลากรในประเทศไทยให้มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในด้านของเอ็กซิบิชั่น โดยมีบุคลากรของบริษัทเข้าร่วมในหลักสูตร 5-6 คน

ส่วนอีกหลักสูตรหนึ่งที่นำมาพัฒนาผู้บริหารก็คือ EMD หรือ เอ็กซิบิชั่นแมเนจเมนท์ ดิโพมา (Exhibition Management Diploma) ซึ่งเป็นหลักสูตรของสวิตเซอร์แลนด์เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษทั้งหมด และที่กำลังจะทำในเดือนสิงหาคมนี้คือ CMP (Certified in Meeting Professional)

ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมิน 3 มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2560 เรื่องแรกเป็นเรื่องระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของศูนย์ประชุม และเรื่องที่สองคืออีเวนท์ซัสสเตเบิ้ล แมเนจเมนท์ เป็นมาตรฐานด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ส่วนมาตรฐานสุดท้ายเป็น BCM (Business Continuity Management) เป็นระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยมาตรฐานนี้จะช่วยแสดงถึงศักยภาพของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ในการส่งมอบการบริการให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดอุบัติการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการหยุดชะงัก

"มาตรฐานนี้เราเคลมได้ว่าเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกของเอเชียที่สร้างมาตรฐานนี้ขึ้นมา และกำลังเช็คข้อมูลว่าเป็นระดับโลกหรือไม่ ซึ่งเป็นการจัดเตรียมให้กับลูกค้า เราจะเป็นคนแรกที่ทำ นั่นคือเดือนตุลาคมปีนี้ เราจะได้ 3มาตรฐานพร้อมกัน อันนี้ถือเป็นสิ่งที่เราเตรียมตัวเองขึ้นไปพัฒนาทั้งองค์กร ทั้งบุคลากร รวมทั้งสถานที่เราก็ทำให้เข้ามาตรฐานไอเอสโอเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร ประหยัดพลังงาน"

สำหรับการยกระดับมาตรฐานทั้ง 3 ด้านนั้น นายทาลูนกล่าวว่า เป็นการเพิ่มมูลค่า ไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มราคา เป็นการทำให้มืออาชีพและทั่วโลกยอมรับว่าหากมีมาตรฐานดังกล่าวแล้ว แสดงว่ามีความรู้ ความชำนาญในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างเรื่อง BCM จะช่วยเรื่องการบรรเทาความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ หากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เพราะทุกอย่างไม่มีความแน่นอน จึงต้องมีการเตรียมตัว เพื่อลดผลกระทบที่ร้ายแรงให้เบาลงได้

"ทุกก้าวที่เราเดินมีความเสี่ยง เหมือนกันลงทุนหุ้นที่เตือนกันตลอดเวลาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง การทำธุรกิจก็มีความเสี่ยง ถ้าเราเตรียมตัวได้ดี ความเสี่ยงเหล่านั้นก็จะบรรเทาลง เป็นสิ่งที่เรามองเห็นว่าควรจะทำ" นายทาลูน กล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่ผู้จัดงานต่างประเทศจะมอง เรื่องของกรีนมาแรงมาก เป็นเทรนด์ของไมซ์ที่มาแรง

สำหรับแผนการทำตลาดในปีนี้จะมีการปรับสัดส่วนจากเดิมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เคยวางสัดส่วนลูกค้าในประเทศไว้ 80% และลูกค้าต่างประเทศ 20% ปรับเป็นลูกค้าในประเทศ 70% ขณะที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ถือเป็นการรุกตลาดต่างประเทศปีแรก จะเป็นการร่วมกับสสปน. ซึ่งมีโรดแมพในการดึงต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยอยู่แล้ว แต่ศูนย์ฯจะเลือกตลาดให้ตรงกับเป้าหมายของตัวเองที่เน้นเรื่องของไลฟ์สไตล์

อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของการหันไปรุกตลาดต่างประเทศ คือ ศูนย์ฯต้องการที่จะเปิดตัวว่ามาตรฐานการบริการของเราสามารถรองรับงานระดับโลกได้ เลยพยายามหางานต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น อย่างปีที่ผ่านมา มีงานต่างประเทศหลายประเภทมาก คอนเสิร์ตต่างประเทศก็เยอะ ส่วนในปีนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาพูดคุย จึงอาจยังไม่มีการประชุมใหญ่จากต่างประเทศเข้ามา แต่ในปีหน้าคงจะมีประมาณ 2-3 งาน เพราะการจะดึงงานต่างประเทศมาต้องใช้เวลาพูดคุยกันพอสมควร

ดังนั้น การจะเพิ่มสัดส่วนต่างประเทศเป็น 30% คงจะเห็นในปีหน้า โดยแผนนี้จะใช้ระยะเวลา 2 ปี เพราะปีแรกคือปีนี้ยังรุกได้ไม่มากนัก ซึ่งปลายปีนี้จะเดินทางไปเจรจางานในต่างประเทศ เน้นไปที่ตลาดใหญ่ๆ ไปนำเสนอโปรดักส์ให้ต่างชาติได้รับรู้ กว่าจะดึงงานเข้ามาจัดได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี สำหรับกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศก็จะเป็นกลุ่มไลฟ์สไตล์ สมาคมต่างๆ เพราะมีหลายสมาคมทั่วโลก และมีบริษัทที่นำพนักงานดีเด่นมาประชุมมาเที่ยวเมืองไทย ที่ศูนย์ฯได้เปรียบคือ มีชอปปิ้งอยู่ในตัว มีพื้นที่รองรับเพียงพอ

ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นความหลากหลาย โดยปัจจุบันสัดส่วนของงานจะเป็นงานแสดงสินค้า 35% งานสเปเชียลอีเวนท์ 25% งานเอนเตอร์เทนเมนท์และเปิดตัวสินค้า 25% ส่วนที่เหลือ 15% เป็นงานเฉลิมฉลอง จัดงานเลี้ยงในวาระต่างๆ

ขณะที่รายได้ในปีนี้ น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ประมาณ 215 ล้านบาท มีโอกาสเพิ่มขึ้นหรือลดลงเล็กน้อยไม่เกิน 5% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเข้ามาใช้งานของผู้จัดงาน หากลูกค้าใช้เวลาในการจัดงานมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น โดยปกติในการทำธุรกิจนี้จะเติบโตทุกปีเฉลี่ย 7-12% เพียงแต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่จะไม่คงที่เสมอไป ส่วนปริมาณการจัดงานต่างๆ ในปีนี้ก็ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านการแข่งขันในธุรกิจนั้น มองว่าความต้องการพื้นที่จัดงานแสดงหรือศูนย์การประชุมยังมีอยู่สูง โดยตลาดไมซ์มีการเติบโตปีละ 15% ทำรายได้เข้าประเทศ 9.5 หมื่นล้านบาท มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว 8.5 หมื่นบาท ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง และแม้สถานที่จัดงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทำเลศูนย์กลางกรุงเทพฯ คงไม่มีเพิ่มมากนัก คงมีแค่ส่วนที่เป็นโรงแรมมีพื้นที่น้อยกว่าศูนย์การประชุม

"ตลาดไมซ์ยังเติบโตได้เยอะ ส่วนอันไหนจะโตก็แล้วแต่จังหวะ เราจะอยู่ในสี่ตัว ไม่ว่าจะเป็น M - Meeting หรือ I - Incentive หรือ C - Convention หรือ E - Exhibition แต่ผมจะเพิ่มเป็นไมซ์ยกกำลังสาม โดยกำลังสามของเราจะไปเติมที่ตัว E หรือเอ็กซิบิชั่น เช่น เติมเอ็ดดูเคชั่น และเอ็นเตอร์เทนเมนท์ รวมทั้งสเปเชียลอีเวนท์เข้าไป เราจะไม่ทำแค่สี่ตัวที่มีอยู่ อันนี้เป็นกลยุทธ์ที่ทำมาสิบปีแล้ว"

กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการบริหารจัดการแล้ว การแข่งขันในธุรกิจศูนย์ประชุมยังอยู่ที่ทำเลที่ตั้ง ระบบการขนส่ง มีการจราจรที่คล่องตัว ต้องไม่ไกลจากสนามบิน มีโรงแรมอยู่ใกล้ จะทำให้ได้เปรียบ ซึ่งรอยัล พารากอน ฮอลล์ มีทำเลที่ตั้งที่สำคัญมากเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะอยู่ใจกลางเมือง เดินทางได้สะดวก เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนเข้าถึง มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตในที่เดียว เรียกว่าเป็น วันสต็อปชอปปิ้ง แต่สิ่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล จากการที่คนหันไปใช้ระบบออนไลน์ แต่ศูนย์ประชุมยังเป็นสถานที่ที่ต้องมาพบปะกัน

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอแทบไม่มีผลกระทบต่อรอยัล พารากอน ฮอลล์ เนื่องจากเป็นศูนย์ฯที่มีไซส์ขนาดกลาง ซึ่งลูกค้าไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการจัดงานเหมือนไซส์ใหญ่ จึงยังคงมีการจัดงานอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯยังมีการพัฒนา ออกแบบงานของตัวเอง เน้นใช้นวัตกรรม แนวคิดรูปแบบใหม่ๆ มานำเสนอ รวมทั้งสร้างสรรค์งานร่วมกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เสมือนหนึ่งเป็นทีมงานเดียวกัน จึงทำให้ลูกค้าเดิมอยากกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

"ความท้าทายคือ การหาลูกค้าใหม่ และรักษาลูกค้าเก่าไว้ ตอนนี้เราได้จัดทำโครงการพาร์ทเนอร์ชิพ เพื่อตอบแทนกลุ่มลูกค้าเก่าและจูงใจให้เป็นพันธมิตรกันต่อไป เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีกับเราสูง ใช้บริการซ้ำซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เป็นการเน้นความยั่งยืนในการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ