นอกจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบของ ปตท. ยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก (Big Four) เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการขายโครงการดังกล่าวอย่างละเอียดว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และให้มารายงานต่อคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งที่ปรึกษาได้มารายงานแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าแนวทางปฏิบัติและการตัดสินใจขายโครงการ มิได้มีปัญหาอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างไร
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวมีที่มาจาก เมื่อปี พ.ศ. 2555 ปตท. ที่มีฐานะเป็นบริษัทแม่ได้ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนจากขั้นตอนการซื้อที่ดินและการบริหารโครงการของ PTTGE ซึ่งดำเนินการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียในช่วงปี พ.ศ. 2550 จึงได้ทำการสอบสวนและลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) พิจารณาสอบสวนและยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งตามหลักปฏิบัติธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ของกลุ่ม ปตท. พร้อมกับที่คณะกรรมการ ปตท. พิจารณายกเลิกการลงทุนและให้ดำเนินการขายทรัพย์สินเพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กร
ปัจจุบัน ปตท. มีคดีที่ได้เป็นโจทก์ร่วมกับ PTTGE ยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ คดีที่ยื่นศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุน นอกจากนี้ หน่วยงานตรวจสอบภายใน ปตท. ได้ตรวจพบความผิดปกติจากความเสียหายของการลงทุน ซึ่งพบว่าเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอก ดังนั้น คณะกรรมการ ปตท. จึงได้มีมติส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาตามกฎหมาย โดยปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ผลการตรวจสอบด้านกระบวนการขาย ปตท. จะดำเนินการส่งมอบเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลแพ่งเพื่อเร่งการพิจารณา และตัดสินเพื่อยืนยันความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของ ปตท. โดยเร็วที่สุด
สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อว่ามีผู้ฟ้องร้องผู้บริหารและอดีตผู้บริหาร ของ ปตท. เป็นการยื่นฟ้อง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งขณะนี้ศาลฯ รับเอกสารคำฟ้องไว้พิจารณา ยังไม่ได้มีคำสั่ง ประทับรับฟ้องแต่อย่างใด โดยศาลฯ จะมีกำหนดการนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีความของ PTTGE อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะศาลแพ่ง ได้มี คำสั่งมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูล ปตท. จึงต้องเคารพต่อคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
ดังนั้น หากบุคคลใดล่วงละเมิด มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือ กล่าวอ้างข้อมูลในคดีที่อยู่ ระหว่าง การพิจารณาของศาล ถือว่าไม่เคารพต่อคำสั่งศาลฯ รวมถึงให้ข่าวในเชิงก่อผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ปตท. อาจนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายได้