นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า SPI เป็นมาตรวัดอันแรกที่สะท้อนความก้าวหน้าทางสังคมที่แยกเด็ดขาดจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ผลคะแนนมาจากตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมซึ่งครอบคลุมความก้าวหน้าทางสังคมครบทั้งสามมิติ ได้แก่ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ Basic Human Needs, พื้นฐานของการอยู่ดีมีสุข Foundations of Wellbeing และโอกาส Opportunity การสำรวจในปี 2560 รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัด 50 ตัวจาก 128 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรโลกถึง 98 % การสำรวจนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเติมเต็มให้กับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมและตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจอื่นๆ วัตถุประสงค์สูงสุดก็คือ สะท้อนภาพรวมของการพัฒนาประเทศให้ครบถ้วนทุกแง่มุม
การสำรวจนี้ดำเนินการโดย Social Progress Imperative ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากดีลอยท์ และได้รับความร่วมมือจาก ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่ง โรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด(Harvard Business School) และ สก๊อต เสติร์น แห่ง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตส์ (MIT) โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลความก้าวหน้าทางสังคมจากรายงานที่ทั้ง 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557-2560 ของ 128 ประเทศ ทำให้สามารถมองเห็นและวิเคราะห์แนวโน้มในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้
โดยภาพรวมในปีนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ลำดับที่ 62 ของโลกจากที่สำรวจทั้งหมด 128 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ตามหลังมาเลเซีย (ลำดับที่ 50) แต่นำหน้าฟิลิปปินส์ (ลำดับที่ 68), อินโดนีเซีย (ลำดับที่ 79), อินโดนีเซีย(ลำดับที่ 79), เมียนมาร์ (ลำดับที่ 96), กัมพูชา (ลำดับที่ 98) และ ลาว (ลำดับที่ 99) ส่วนประเทศที่มีความก้าวหน้าทางสังคมในระดับสูงสุดของโลกห้าประเทศแรกเรียงตามลำดับ ได้แก่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอส์แลนด์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์
ในส่วนของประเทศไทย ดัชนีด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล ซึ่งวัดจากอัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมและความตระหนักเรื่องอาชญากรรม มีความก้าวหน้าหรือผลคะแนนดีขึ้นมาก คิดเป็น 6.59 คะแนนเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 องค์ประกอบอื่นๆมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ได้แก่ ทางเลือกและเสรีภาพส่วนบุคคล (Personal Freedom and Choice) ดีขึ้น5.42 คะแนน และ การเข้าถึงความรู้พื้นฐาน (Access to Basic Knowledge) ดีขึ้น 3.31 คะแนน ยิ่งไปกว่านั้นในองค์ประกอบอื่นๆ ประเทศไทยก็ได้คะแนนสูงคือ เกิน 90 คะแนน เช่น โภชนาการและการแพทย์ขั้นพื้นฐาน (Nutrition and Basic Medical Care) ได้ 94.99 คะแนน, การเข้าถึงความรู้ขั้นพื้นฐาน (Access to Basic Knowledge) ได้ 94.86 คะแนน, ด้านที่อยู่อาศัย (Shelter) ได้ 86.76 คะแนน และ ทางเลือกและเสรีภาพส่วนบุคคล (Personal Freedom and Choice) ได้ 72.02คะแนน ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือรายได้ประชาชาติต่อหัว ในระดับเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ประเทศไทยได้คะแนนน้อยและอาจต้องปรับปรุง ได้แก่ สิทธิส่วนบุคคล (Personal Rights)ได้ 37.30 คะแนน (ลดลง 15.03 คะแนน), คุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality) ได้ 67.45 (ลดลง 0.58 คะแนน)และโอกาส (Opportunity) ได้ 49.28 คะแนน ลดลง 2.01 คะแนน ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
"สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมของประเทศจะต้องมีความมั่นคง ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องแก้ไขป้องกันปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงของชาติ เช่น การก่อการร้ายและภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างตรงจุดและเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศชาติรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อไปได้ ถึงแม้ว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าทางสังคมในหลายๆด้าน แต่ก็มีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่อง การเคารพสิทธิส่วนบุคคล และการยอมรับความแตกต่างและหลายหลายในสังคม โดยในส่วนดีลอยท์ ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ มีความมั่นใจในศักยภาพที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและประชาชนชาวไทยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ทางธุรกิจควบคู่กับการดำรงชีพอย่างเป็นสุข ยั่งยืนและปลอดภัย" นายสุภศักดิ์กล่าวในที่สุด
สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ SPI ติดตามได้ในเว็บไซต์ www.socialprogressimperative.org