เนส เล่าว่า สำหรับโครงการศึกษาและออกแบบสถาบันพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจทางพุทธศิลป์ เป็นผลงานสำเร็จการศึกษา ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อพื้นที่รองรับการเช่า-ขายในประเทศและระหว่างประเทศในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า สร้างความเป็นสากลให้กับวงการพระเครื่อง สร้างมาตรฐานการตรวจสอบพระแท้โดยหลักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นความเป็นมาของพระเครื่องแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยแนวความคิดในงานออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เบญจภาคีพระเครื่อง ซึ่งเป็นชุดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในวงการพระเครื่อง โดยประกอบด้วย พระรอด ลำพูน พระซุ้มทอ กำแพงเพชร พระนางพญา พิษณุโลก พระผง สุพรรณ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่พระสมเด็จ วัดระฆัง ที่เป็นจักรพรรดิพระเครื่อง โดยนำพระสมเด็จมาเป็นแกนกลางทั้ง 5 เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับงาน มีการถอดซุ้มเรือนแก้ว กับฐานพระสมเด็จมาเป็นรูปทรงอาคาร และมีการวิเคราะห์อาคารโดยรอบ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบช่องเปิดอาคาร รองรับผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาในไทยและเอเชีย
"ระยะเวลา 10 ปี ที่ผมมีความสนใจพระเครื่อง โดยเริ่มสนใจช่วงองค์จตุคามรามเทพ เมื่อปี 2550 ได้ศึกษามาโดยตลอด เห็นถึงพุทธคุณความงามและการขยายตัวของวงการพระเครื่อง มีศักยภาพในการขยายตัว พระเครื่องเป็นศาสตร์และศิลป์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณจากสิ่งที่ยึดเหนี่ยวในการสู้รบป้องกันแผ่นดิน ปัจจุบันพระเครื่องบูชาไทยได้พัฒนาสู่ความเป็นสากล มีการซื้อ-ขาย ได้มีการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบพระเครื่องบูชา แต่ยังขาดพื้นที่รองรับที่ตอบสนองการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคเอเชียในอนาคต ดังนั้นวงการพระเครื่องควรสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับการขายตัวของวงการในอนาคต" น้องเนสกล่าวทิ้งท้าย