รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ InnoAgri ว่า เพื่อนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม (Traditional Farming) ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart Farming) เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรายย่อย
ทั้งนี้ โครงการ InnoAgri เป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ วว. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสานพลังประชารัฐหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินโครงการ InnoAgri ในปีงบประมาณ 2560 ว่า อันดับแรก พัฒนาเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart farmer) จำนวน 3,000 ราย และนำไปใช้ประโยชน์ 1,500 ราย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 20 อันดับสองพัฒนาและยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรจำนวน 200 ราย ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกระดับ/มีผลิตภัณฑ์ใหม่ 20 ผลิตภัณฑ์ อันดับสามชุมชนต้นแบบเกษตรแบบครบวงจรที่ได้นำ วทน. มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา 2 ชุมชน อันดับสี่ฐานข้อมูลที่จัดเก็บในรูปแบบคลังความรู้ (InnoAgri Datahub) 1 ฐานข้อมูล
โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ InnoAgri จะต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจากสภาเกษตรกรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการรับรู้เร็ว และ มีประวัติการนำเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดไปใช้จริง 2.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตร มีศักยภาพในการชำระเงินกู้ และ 3.ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของพื้นที่
โครงการ InnoAgri จะดำเนินงานในรูปแบบการจัด 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.ยกระดับเกษตรกรเป็นเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่เหมาะกับยุคสมัยมาใช้สำหรับลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 2.ยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (InnoAgri Entrepreneur) ด้วย วทน. ใช้สำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตร และ 3.สนับสนุนการสร้างเกษตรนวัตกรรมยั่งยืน (InnoAgri Sustainability) ด้วยการสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม (InnoAgri village) ที่มีความสามารถในการนำ วทน. มาใช้เพิ่มผลิตภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่เน้นสร้างทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชนผ่านระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบฐานข้อมูล InnoAgri datahub จนเกิดเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จต้นแบบ InnoAgri champion
การดำเนินโครงการในปีพ.ศ. 2560 มุ่งเน้นการจัดงาน InnoAgri รายภูมิภาคต่างๆ คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในรูปแบบการให้ความรู้ผ่านเวทีการประชุม สัมมนา การเรียนรู้ผ่านการสาธิตเชิงปฏิบัติการนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพันธมิตร (Supply Side Science Technology and Innovation) และเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค นำเสนอความต้องการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Demand Side Science Technology Innovation) รวมถึงแนวความคิดเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนา จากโจทย์ความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่างประเทศ ภายในนิทรรศการหลักของงาน ซึ่งนอกจากความรู้ที่มอบให้แล้วทางโครงการ ยังมีการจับคู่เทคโนโลยี (STI Matching) การแสดงผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยและพัฒนา เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย เอกชน
สำหรับโครงการ InnoAgri กิจกรรมสัญจรครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2560 ณ โรงเรียนสา ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 1,500 ราย เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานนอกจากการจัดนิทรรศการ ยังมีการเสวนา การบรรยาย และการสาธิตเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งกิจกรรมห้องเรียนเทคโนโลยีในหัวข้อต่างๆจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร อาทิ การสัมภาษณ์ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้างโพดเลี้ยงสัตว์ในประเด็นแนวทางรอดเกษตรกรน่าน ปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแนวทางแก้ไข ปลูกอะไรกันดีด้วย G-Agro การบริหารจัดการน้ำชุมชน การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลำไยและมะม่วง การปลูกสุคนธรสและการแปรรูป ทิศทางเศรษฐกิจจังหวัดน่านหากไม่มีการรับซื้อข้าวโพด อาชีพใหม่ใช่มีแต่ปลูกพืช การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า การแปรรูปพริก/ยางพารา การปลูกผักหวานป่า/ผักกูด การผลิตอาหารหมักโคขุนจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลับบ้านมาปลูกกาแฟกันเถอะ การพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูป InnAgri ให้อะไรกับคุณบ้าง เป็นต้น
ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนเครือข่ายสมาคม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประชารัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ผู้ประกอบการกลุ่มชุมชน SMEs OTOP ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้ที่ สภาเกษตรกรจังหวัด หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาในจังหวัดศรีสะเกษและน่าน หรือที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 35 ม.3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันและเวลาราชการ หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 577 9015 และ 02 577 9017 หรือที่ E-mail : [email protected]