พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาการลดลงของทรัพยากรประมงที่เกิดขึ้นจนนานาประเทศกลัวว่าจะก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารทะเลในการบริโภค สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการลดลงของทรัพยากรอย่างน่ากลัวคือการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือที่เรียกว่าการประมง IUU บทบาทของประเทศไทยภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure Agreement - PSMA) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกของโลกที่มุ่งเน้นกำจัดการทำประมง IUU ซึ่งมีผลผูกพันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2559
มาตรการของรัฐเจ้าของท่า คือมาตรการการตรวจสอบการทำประมง IUU เมื่อเรือเข้าเทียบท่าโดยภายใต้มาตรการดังกล่าว รัฐเจ้าของท่าต้องกำหนดท่าเรือที่จะให้เรือต่างชาติเข้าเทียบท่า เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม โดยเรือต่างชาติต้องขออนุญาตรัฐเจ้าของท่าก่อนที่จะนำเรือเข้าเทียบท่า และต้องแจ้งข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลทะเบียนเรือ อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ และสัตว์น้ำในห้องเก็บสัตว์น้ำ แก่เจ้าหน้าที่ โดยรัฐเจ้าของท่าต้องปฏิเสธการขอเทียบท่า ตรวจสอบเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU และมีมาตรการที่จำเป็นต่อการจัดการเรือเหล่านี้ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกที่ได้เริ่มมีการดำเนินการตามพันธกรณีที่ได้ลงนามไว้แล้วและภายใต้พระราชกำหนดการประมง 2558 ซึ่งตามความตกลงฯ ดังกล่าว รัฐสมาชิกต้องกำหนดท่าเทียบเรือประมงต่างชาติที่ให้เทียบท่าได้ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 27 ท่า เพื่อให้สามารถควบคุมได้อย่างใกล้ชิด ดำเนินการขึ้นตรวจสอบเรือประมงที่นำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าในประเทศไทย มีการประสานงานกับประเทศต่างๆ เพื่อตรวจความถูกต้องของเอกสาร ตลอดจนการเข้าร่วมกับนานาประเทศและองค์การบริหารการประมงในภูมิภาคเพื่อติดตามเรือประมงที่ต้องสงสัยว่าจะมีการทำการประมง IUU
ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายปี 2559 ประเทศไทยได้มีการยึดเรือประมงจำนวน 7 ลำ ที่ขอเข้ามาเข้าเทียบท่าเพื่อซ่อมแซม เรือที่จังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มเรือดังกล่าวได้มีการแอบอ้างว่ามีสัญชาติโบลิเวีย เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปที่ประเทศโปลิเวีย ตามมาตรการ PSMA แล้วปรากฏว่าไม่เป็นความจริง และจากการขึ้นตรวจสอบเรือประมงพบว่ามีพฤติกรรมที่เป็น IUU และหลายลำเป็นเรือที่คาดว่าจะอยู่ในรายชื่อที่ IOTC ประกาศขึ้นเป็นเรือ IUU ไว้แล้ว แต่เนื่องจากขณะนั้นพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ไม่สามารถดำเนินการกับเรือประมงดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ได้นำสัตว์น้ำขึ้นท่า จึงต้องใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนในการดำเนินการ และอีก 2 ลำที่ได้แจ้งออกจากท่าไปก่อนที่จะมีการตรวจสอบ ประเทศไทยได้มีการแจ้งเตือนประเทศต่างในภูมิภาคและองค์การบริหารจัดการประมงในภูมิภาคแล้ว
"ประเทศไทยในฐานะภาคสมาชิกของสังคมโลกจะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในบทบาทของ "รัฐเจ้าของท่า" เพื่อให้นานาประเทศมั่นใจได้ว่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นมาบริโภค หรือ ผลิตจากประเทศไทยได้รับการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่าไม่ได้มาจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศที่มีพื้นที่ทำการประมงที่จะอนุญาตให้เรือประมงไทยเข้าไปทำการประมง ว่าประเทศไทยในบทบาทของ "รัฐเจ้าของธง" จะสามารถที่จะควบคุมดูแลเรือประมงที่ออกทำการประมงนอกน่านน้ำของไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือข้อตกลงที่ให้ไว้แก่กัน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย อันจะส่งผลให้กองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยได้รับการยอมรับให้เข้าไปทำการประมงในน่านน้ำประเทศอื่นหรือน่านน้ำสากลได้อย่างมั่นใจ" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เรือประมงสัญชาติจิบูติ ได้ยื่นขอเข้าเทียบท่าเรือประมง ณ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นการแจ้งยื่นล่วงหน้าตามมาตรการ PSMA โดยแจ้งว่าเรือได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากรัฐปุนท์แลนด์ สหพันธ์รัฐโซมาเลีย และเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เข้าเทียบท่าเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม2560 แต่ยังไม่สามารถที่จะอนุญาตให้นำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมง เนื่องจากยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าไม่ได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้แจ้งให้ตัวแทนนำเอกสารมายื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 7พฤษภาคม 2560 และออกหนังสือเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ซึ่งตัวแทนบริษัทได้ขอขยายเวลานำเอกสารมายื่นเพิ่มเติม และได้นำเอกสารมายื่นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ประกอบด้วย
1) รัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย
2) รัฐธรรมนูญของรัฐปุนท์แลนด์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย
3) กฎหมายการประมงของสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย
4) กฎหมายการประมงของรัฐปุนท์แลนด์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย
กรมประมง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้ ศปมผ. ได้พิจารณาแล้วว่าเอกสารดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันความถูกต้องของใบอนุญาตทำการประมง และไม่ปรากฎหลักฐานที่แสดงว่าสัตว์น้ำไม่ได้มาจากการทำการประมง IUU จึงได้ขยายเวลาให้ตัวแทนนำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ซึ่งตัวแทนไม่ได้นำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมตามช่วงเวลาดังกล่าว
จากการตรวจสอบหลักฐานที่ตัวแทนนำมายื่น ประกอบกับการตรวจสอบไปยังสาธารณรัฐโซมาเลียซึ่งเป็นรัฐชายฝั่งปรากฎว่าการทำการประมงของเรือประมงลำดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายประมงของสาธารณรัฐโซมาเลีย ดังนี้
1) ฝ่าฝืนมาตรา 3 ซึ่งกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งสำหรับชาวประมง ซึ่งเรือประมงต้องทำการประมงนอกเขต 24 ไมล์ทะเล
2) ฝ่าฝืนมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้การทำการประมงในน่านน้ำของโซมาเลียโดยเรือประมงต่างชาติ ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากรัฐบาลกลาง
3) ฝ่าฝืนมาตรา 33 ซึ่งกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงทำการประมงอวนลากทำการประมง ในน่านน้ำของสาธารณรัฐโซมาเลีย
และนอกจากนี้จากปริมาณสัตว์น้ำที่ขอนำเข้ามีทั้งสิ้น 448 ตัน ซึ่งมีปริมาณมากเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงที่ออกโดยรัฐปุนท์แลนด์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (270 ตัน)
ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้รับแจ้งว่าสาธารณรัฐจิบูติ ได้ถอนสัญชาติของเรือประมงลำดังกล่าวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 ทำให้เรือประมงลำดังกล่าวอยู่ในสถานะ "เรือไร้สัญชาติ" ทำให้ไม่สามารถที่จะออกไปในทะเลได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรมประมงจึงออกคำสั่งยึดเรือและทรัพย์สินในเรือประมง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 96 วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือประมงสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง