ฟื้นสำเนียง เสียงกลองปูจา มูลนิธิสยามกัมมาจล

อังคาร ๐๑ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๓๑
ขึ้นชื่อว่า "ของเก่า" ทั้งที่เป็นสิ่งของจับต้องได้ หรือที่เป็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม การแสดงหรือการละเล่นต่าง ๆ หากขาดคนรับช่วงสืบทอด ย่อมสูญหายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะในยุคที่รอบตัววัยรุ่นมีแต่สิ่งเร้า การจะกระตุ้นหรือรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่มารับ "ภาระ" แทนคนรุ่นปู่ย่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

และสำหรับคนล้านนา เสียงที่เป็นมงคล 3 เสียง เสียงฆ้องเสียงกลอง เสียงมองตำข้าว และเสียงตุ๊เจ้าเทศน์ธรรม[1] ซึ่งหากไม่นับ "เสียงมองตำข้าว" ที่หายไปตั้งแต่โรงสีข้าวเข้ามาในชนบท และสิ่งที่กำลังเบาเสียงลงก็คือ "เสียงฆ้องเสียงกลอง" ที่เป็นเสมือนอาณัติสัญญา การสื่อสารในพิธีกรรม บอกสัญญาณวันโกนวันพระ ให้ความบันเทิง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนหอก ฟ้อนลายการ ฟ้อนผางประทีป ก็เพราะขาดคนสนใจสืบทอด ประกอบกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ในการตีกลองปูจาต่างก็ทยอยจากไป

สถาพร จันต๊ะยอด หรือที่เด็ก ๆ เรียก "ครูอาร์ท" ก็เห็นปัญหานี้และเห็นปัญหาที่จะตามมาในอีกหลายอย่าง เพราะ "เสียงกลอง"ผูกโยงไปกับอีกหลาย ๆ เรื่อง พูดง่าย ๆ คือหากไม่มีการตีกลองให้จังหวะ การเต้น การฟ้อน ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน…

ครูอาร์ท จึงชวน เจ-อากิระ ฝีปากเพราะ ฟิว-วัชรพงษ์ พรมมา มิกซ์-ภูมิพันธ์ จันทร์งาม แป๊ป-ศุภกร ปาระ เสก-พสิษฐ์ สุทธการ เกมส์-สุรพงษ์ บุญรอด เกด-สวพล เทพอินทร์ ให้มาร่วมกัน "สืบทอดและถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน"

"เพราะเรื่องกลองปูจาเป็นวาระของจังหวัดที่กำลังต้องการการรื้อฟื้นให้คนรุ่นใหม่ได้มาสืบสาน และเห็นว่าเด็กๆ หลายคนมีศักยภาพ หลายคนก็สนใจสืบสานประเพณีคนรุ่นปู่รุ่นย่า จึงชวนมาฝึกตีกลอง มาหัดฟ้อน ดาบ ฟ้อนเจิง ทุกวันพระก็จะพาเด็ก ๆ ไปตีกลองในวัดใกล้ ๆ ผู้ใหญ่เห็นก็จะชื่นชม เด็ก ๆ ก็เกิดความภาคภูมิใจ"

แต่ความสนใจของเด็ก ๆ ไม่ใช่แต่ตีได้ ร่ายรำเป็น ครูอาร์ทบอกว่า เด็ก ๆ สนใจอยากมีความรู้เรื่องประวัติ เรื่องจังหวะระบำ การตี จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปสอบถามจากปราชญ์ในชุมชนแล้วนำมาบันทึกไว้ ดังนั้นในการสอนตี หรือสอนฟ้อนในแต่ละครั้งก็จะมีการสอดแทรกเรื่องราวประวัติความเป็นมาไปพร้อม ๆ กันด้วย ข้อมูลที่ได้รับทราบ กลายเป็นความรู้ติดตัวที่ทำให้เวลามีคนมาถามว่า ตีกลองปูจาเพื่ออะไร ทำไมต้องทำ ทีมงานทุกคนจะสามารถตอบได้อธิบายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมการยอมรับจากผู้คนในยามที่ต้องออกแสดงหรือช่วยกิจกรรมของชุมชน

ครูอาร์ทเล่าว่า การเรียนรู้เรื่องการตีกลองปูจา และฟ้อนดาบฟ้อนเจิง มีส่วนในการขัดเกลาให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น

"การที่เด็กมาเรียนเรื่องนี้ จะพัฒนาเด็กจากที่สังเกตคือ 1.ด้านกิริยามารยาท เราจะเน้นเรื่องกิริยามารยาทในการเข้าหาผู้ใหญ่2.สมาธิ พัฒนาสมาธิจากเด็กที่ลุกลี้ลุกลน อยู่กับอะไรได้ไม่นาน ก็จะจดจ่อมีสมาธิ เพราะว่าการตีกลองต้องใช้ทักษะของมือ การจำ และการฟ้อนก็เป็นเรื่องการจำ ซึ่งเป็นการพัฒนาสมาธิ และ 3.จิตอาสา ทำให้เด็กไม่เก็บตัว ไม่ปิดกั้นตัวเอง เวลามีกิจกรรมในชุมชนเด็กก็สามารถเข้าไปเป็นตัวประสานในการดำเนินกิจกรรมได้ เด็กกล้าแสดงออก"

ครูอาร์ทสะท้อนว่า บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนนั้น ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะอดกลั้น อดทนต่อความอยากบอก อยากสอน โดยจะปล่อยให้เยาวชนได้คิดเองทำเองก่อน ส่วนการกระตุ้นนั้นจะทำเมื่อเห็นว่า เหนือบ่ากว่าแรง ก็จะเข้าไปแนะนำเพิ่มเติม หรือบางครั้งก็จะใช้วิธีการคุยตัวต่อตัวเพื่อปรับทัศนคติสำหรับเด็กบางคน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเห็นว่า มีสิ่งใดที่สามารถสอนได้บอกได้ก็จะสอนไปพร้อมๆ กัน เช่น เรื่องประวัติความเป็นมา ความสำคัญของท่ารำต่างๆ

สำหรับเด็ก ๆ เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะสืบสานและสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทำให้องค์ประกอบของทีมต้องประกอบด้วยเยาวชนหลายวัย ตั้งแต่น้องมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง พี่ ๆ มัธยมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนั้นยังมีพี่ ๆ ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ยังคงแวะเวียนเข้ามาช่วยสอน ช่วยดูแลน้อง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการสอนเพื่อนรุ่นน้องที่ได้ผลดี เพราะทำให้มีคนที่สามารถสืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้โดยไม่ขาดตอน

เมื่อทีมครบ...เด็ก ๆ ก็ต้องรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองกำลังรับภาระสืบสอดอยู่นั้น มีความหมายกับชีวิต และชุมชนอย่างไร

เด็ก ๆ จึงไปสัมภาษณ์คุณตาศรีลัย สุทธการ ครูภูมิปัญญาด้านกลองปูจา ทำให้รู้ประวัติความเป็นมา คุณค่าความสำคัญของกลองปูจาที่มีต่อคนล้านนา นอกจากคุณปู่ เด็ก ๆ ยังไปพูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตวิธีการหุ้มกลองปูจาในแต่ละขั้นตอนจากผู้ใหญ่ท่านอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อให้รู้วิธีการทำกลอง

การเก็บข้อมูลของเยาวชนรุ่นใหม่ อาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น การถ่ายทำวิดีโอ ซึ่งทำให้มีทั้งภาพและเสียง เก็บทั้งอารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล การเข้าไปเรียนรู้จากของจริงในชุมชน ทำให้เข้าใจได้ว่า การตีกลองปูจานั้น ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เงื่อนไขด้านบุคลิกภาพเป็นตัวตัดสินว่า ใครจะสามารถตีกลองได้บ้าง คนที่ไม่สามารถตีกลองก็ต้องเลือกตีฆ้อง หรือตีฉาบ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงที่มีความสำคัญเช่นกัน

จากการสอบถามพูดคุย เด็ก ๆ ได้สัมผัสถึงความเชื่ออันลึกซึ้งของภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ เช่น การทำกลองปูจาชุดหนึ่งที่มีกลองแม่และกลองลูก ต้องเลือกใช้ไม้ชนิดเดียวกัน และเป็นไม้ต้นเดียวกัน เพราะจะทำให้เสียงตีออกมาในโทนเดียวกัน หนังที่หุ้มกลองปูจาต้องเป็นหนังวัวหรือหนังควายเพศผู้เท่านั้น หรือการตีกลองปูจามี 2 รูปแบบคือ การตีชัยมงคล ซึ่งจะใช้ระบำสะบัดชัย ที่ในอดีตเป็นการตีเพื่อปลุกใจ สร้างความฮึกเหิม แต่ในปัจจุบันมักตีในการต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ในงานกฐิน ผ้าป่า หรืองานมงคลต่าง ๆ ส่วนการตีพุทธบูชาซึ่งจะตีในวันโกน (ก่อนวันพระ) โดยจะมีการตี 4 ระบำตามลำดับคือ สะบัดชัย ตุปี้สิก เสือขบช้าง และจบด้วยระบำล่องน่าน ในจังหวะที่กระชับเร็วและเร้าใจ และในวันพระยังมีการตีรับศีลหลังจากพระสงฆ์ได้เทศนาแล้วอีกด้วย

เมื่อรู้ซึ้งถึงคุณค่า และความหมาย การจะออกไปช่วยกันสืบทอด จึงไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ เด็ก ๆ จึงนัดหมายกันเพื่อเรียนการตีกลอง และการฟ้อน ทุกวันพฤหัสบดีหลังเลิกเรียน และวันเสาร์หลังจากเรียนพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกิจกรรมนี้ จะเบียดบังเวลาว่างในชีวิตวัยรุ่น แต่เด็ก ๆ กลับคิดว่า นี่เป็นการผ่อนคลาย เพราะการตีกลอง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ดังเช่นในอดีต ที่บรรพบุรุษของชาวล้านนาใช้การตีกลอง และการฟ้อนดาบฟ้อนเจิงวอร์มร่างกายก่อนออกรบ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม และมีกำลังใจ

มิกช์ เล่าว่า รู้สึกสนุกกับการทำงานลักษณะนี้เพราะได้คุยแลกเปลี่ยน ได้อธิบายสิ่งที่ทำให้คนอื่นได้รับรู้ โดยส่วนตัวของมิกซ์เองบอกว่า ทำให้ตนเองกล้าแสดงออก ซึ่งสามารถปรับใช้ในการเรียน ที่ต้องมีการรายงานหน้าชั้นหรือการนำเสนอต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับเสกบอกว่า การได้เรียนรู้ การฟ้อนเจิง การตีกลองปูจา ทำให้สามารถนำไปต่อยอด เช่น ใช้ในการแสดง การสอนคนรุ่นหลังคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังการฝึกซ้อมถือเป็นการออกกำลังกาย เพราะได้ขยับตัวทำท่าทางต่างๆ ส่งผลทำให้สุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่ได้ผ่อนคลายจากความเครียด ความเมื่อยล้าจากการเรียน

การเรียนรู้ทั้งในมิติของความเป็นมา คุณค่า และการฝึกฝนลงมือทำจนตีได้ ฟ้อนเป็น ได้สร้างความผูกพันกับรากเหง้าที่เป็นตัวตนของคนเมืองน่านให้หยั่งรากฝังลึกลงในตัวของทีมงานทุกคน อย่างที่เกมส์สรุปบทเรียนการเรียนรู้ของตนเองว่า "รู้สึกภูมิใจเป็นคนเมืองน่าน เพราะเกิดมามีวัฒนธรรมที่อบอุ่น" ถึงตอนนี้ เชื่อมั่นได้ว่า เสียงกลองปูจายังจะคงดังก้องอยู่คู่เชียงกลางและเมืองน่านไปอีกนานเท่านาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version