นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 7 สิงหาคม2560 ภายหลังจากที่เปิดเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป ในช่วงระหว่างวันที่ 7-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินธุรกิจของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว โดยมีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
ทั้งนี้ กองทุน BRRGIF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง โดยการจ่ายเงินผู้ถือหน่วยนั้นได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินปันผลจากกำไรสุทธิของกองทุน และเงินจ่ายคืนจากการลดเงินลงทุนในรายได้สุทธิ (ลดทุน) ซึ่งผู้สอบบัญชีได้จัดทำประมาณการกำไรขาดทุนและการปันส่วนกำไรในรอบ 12 เดือน ประมาณการเงินปันผลของกองทุนไว้ที่ประมาณ 6.5% และเงินจ่ายคืนจากการลดทุนประมาณ 4.7% รวมเป็นเงินจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยประมาณ 11.2% โดยเป็นการคำนวณจากขนาดกองทุนที่ 3,717 ล้านบาท (ขนาดกองทุนจากการระดมทุนจริงอยู่ที่ 3,605 ล้านบาท)
"การเข้าเทรดของ BRRGIF น่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและความมั่นคงของธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งในด้านรายได้ และวัตถุดิบ ซึ่งโรงไฟฟ้าได้ป้องกันความเสี่ยงจากการทำสัญญากับโรงน้ำตาล (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์) ตลอดจนมีการเข้าทำสัญญาตกลงดำเนินการระหว่าง บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ กับกองทุน ซึ่ง บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ตกลงจะดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทย่อยต่างๆ เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีการดำเนินงานที่ราบรื่น ทำให้ผลตอบแทนมีความผันผวนต่ำ และมีความมั่นคงสูง ปันผลดี ได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10 ปี จึงทำให้เชื่อมั่นว่า หน่วยลงทุนจะสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อที่หน่วยละ 10.30 บาทได้" นายมนตรี กล่าว
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR แสดงความมั่นใจว่า นักลงทุนจะให้การตอบรับที่ดีสำหรับกองทุน BRRGIF เพราะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าชีวมวลกองแรกที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย BRRGIF จะเข้าลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ของโรงไฟฟ้าของ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน (BEC)และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ (BPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BRR ที่มีการทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะเวลาประมาณ 11 ปี และ 18 ปี (สิ้นสุด 10 ส.ค. 2571 และ 6 เม.ย. 2578) ตามลำดับ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้า (ที่กองทุนจะเข้าลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ) ก็จะเข้าทำสัญญาขายไอน้ำ และสัญญาซื้อกากอ้อย ในระยะยาวกับโรงน้ำตาล โดยจะมีระยะเวลาสิ้นสุดสอดคล้องกับสัญญาของ กฟภ. ดังนั้น กองทุน BRRGIF จึงมีความมั่นคงทั้งทางด้านรายได้ ตลอดจนมีแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวลมาสนับสนุนในระยะยาวครอบคลุมระยะเวลาลงทุนของกองทุน BRRGIF
"นักลงทุนสามารถคำนวณผลตอบแทนของกองทุน BRRGIF ได้ง่าย เนื่องจากเป็นธุรกิจไฟฟ้าที่มีความมั่นคง ซึ่งราคาเสนอขายสุดท้ายที่ 10.30 บาท (คิดเป็นขนาดกองทุน 3,605 ล้านบาท) ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าประมาณการจึงเชื่อมั่นว่าจะยืนเหนือจองได้" นายอนันต์ กล่าว
อนึ่ง กองทุน BRRGIF มีขนาดกองทุนที่ 3,605 ล้านบาท ภายหลังจากที่ BRRGIF เสนอขายหน่วยลงทุนไอพีโอจำนวน 350ล้านหน่วย ในราคา 10.30 บาทต่อหน่วย โดยเงินที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งนี้ จะนำไปลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ BEC และ BPC นอกจากนี้ กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ