แก้อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ต้นเหตุ ยกระดับมาตรฐานขั้นสุด
จากสถิติอุบัติเหตุที่รวบรวมโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการสำรวจสาเหตุของอุบัติเหตุที่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ด้านผู้ขับขี่ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอุปกรณ์ที่ใช้ขับขี่ พบว่า ค่าเฉลี่ยในแต่ละปี มีอุบัติเหตุมากกว่า 43,000 ครั้ง โดยพบว่า 25% เป็นอุบัติเหตุที่การใช้ยางล้อที่ไม่มีมาตรฐาน หรือมีมาตรฐานด้านสมรรถนะ ความปลอดภัย หรือคุณภาพ แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ การขับขี่ขณะฝนตก การลื่นไถล (ถนนลื่น) ถนนชำรุด การหยุดรถกระทันหัน หรือ การไม่สามารถหยุดรถได้ทันในระยะกระชั้นชิดจากการถูกตัดหน้า ซึ่งล้วนยังไม่มีการแยกสถิติชัดเจน นอกจากนี้ ยังพบว่าอีกเป็น 6% เป็นอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากยางล้อแตกและเสื่อมสภาพ ดังนั้น หากล้อยางมีการตรวจสอบมาตรฐานที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในประเทศไทย แล้วย่อมส่งผลให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นลดน้อยลง สามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชนได้
กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว เพราะยางล้อเป็นเพียงส่วนเดียวที่สัมผัสกับพื้นถนน จึงเป็นส่วนสำคัญที่อยู่ระหว่างการเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัย ดังนั้นมาตรฐานในการทดสอบยางล้อจึงต้องมีความเหมาะสม โดยเฉพาะในสภาพประเทศไทยที่มีฝนตกมากและอุณหภูมิร้อนกว่าในหลายทวีป หากนำยางที่มาตรฐานเหมาะสำหรับการใช้งานในทวีปอื่นแต่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทยมาติดตั้ง ยิ่งทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้รถยนต์ เลือกใช้ยางล้อที่ได้มาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนน
สมอ. ดันมาตรฐานมอก. ภารกิจคุ้มครองผู้บริโภค
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า "สมอ. มีภารกิจสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งการควบคุมและกำกับติดตามผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน "ยางล้อ" เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ สมอ. ดำเนินการควบคุมด้านสมรรถนะความปลอดภัยโดยกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน ถ้าผลิตไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เหมาะสมกับสภาพถนนและภูมิอากาศในประเทศ ขณะนี้มาตรฐานยางล้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายที่จะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับมีจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.2718 – 2558 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง มอก.2719 – 2558 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง มอก.2720 – 2558 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มอก.2721-2559 การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก ความต้านทานการหมุน และเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน ซึ่งทั้ง 4 มาตรฐานนี้ จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561 และเมื่อมาตรฐานมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ทำ ผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องขออนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับ สมอ." เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้
นับเป็นความพยายามในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศไทย ในการยกระดับมาตรฐานยางล้อให้อุบัติเหตุให้กลายเป็นศูนย์ ไม่ใช่แค่การใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐานแล้วจะปลอดภัยเสมอ แต่ผู้ขับขี่เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งคัดเช่นกัน การบูรณาการความร่วมมือดังกล่าว เป็นการมองไปที่จุดเริ่มต้นของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับปัจจัยที่ 5 ของประชาชน อย่างรถยนต์รวมถึงยานยนต์ทุกประเภท ที่มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่องโดยเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในแต่ละช่วงของปี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้เราตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด สมอ. คือ ผู้ดูแลด้านมาตรฐานและกฎระเบียบที่เหมาะสม ผู้ผลิตยานยนต์ คือ ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ และจุดนี้คือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพยายามบูรณาการความร่วมมือ และยกระดับเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
ค่ายรถยนต์ขานรับ มาตรฐานความปลอดภัยสู่ความยั่งยืน เน้น "ผู้บริโภคมาอันดับหนึ่ง"
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคม สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำทัพลงนามข้อตกลงฯ ทุกค่ายขานรับเพราะได้ประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค ลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ ค่ายรถยนต์ต่างตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของ สมอ. และสถาบันยานยนต์ อย่างเต็มที่
หลายบริษัทกำลังพยายามมุ่งสู่ความยั่งยืนซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดของการดำเนินธุรกิจ โดยการดำเนินธุรกิจไปในแนวทาง 3 ด้าน คือ ด้านผลกำไร (profit) ด้านความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ (planet) และด้านของคน (people) โดยในความร่วมมือดังกล่าวเรามีจุดร่วมเดียวกัน คือ คนหรือผู้บริโภค และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสำคัญ
พวกเราผลิตยานยนต์มาเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากใช้วัสดุที่ไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เช่น การนำยางรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น มาใช้ในประเทศไทยซึ่งมีอากาศร้อนชื้น ก็เท่ากับทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงโดยไม่สมควร ปัจจุบันการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากยางล้อยังไม่ถูกแยกออกจากการบันทึกสถิติอุบัติเหตุรวม จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ไม่ค่อยมีคนตระหนักถึงเมื่อเทียบกับความปลอดภัยของตัวรถยนต์ในด้านอื่น ๆ แต่พวกเราในฐานะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองผู้ใช้รถยนต์ในประเทศไทย ย่อมไม่สามารถมองข้ามการใช้ "ยางล้อ" ที่มีมาตรฐาน มอก. ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานประเทศไทย อันจะเป็นสิ่งที่จะพาผู้บริโภคไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ข้อตกลงฯ MoU นี้ ถือเป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์รวมถึงประชาชนที่เดินทางบนท้องถนน ให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน
สมอ. เร่งโครงการศูนย์ทดสอบฯ สถาบันยานยนต์ขานรับเตรียมบริหารศูนย์ทดสอบฯ ต้นปี 2561 เพื่อมาตรฐานที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค
เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จ นอกเหนือจากบังคับใช้มาตรฐานด้านสมรรถนะ ความ ปลอดภัย และคุณภาพของยางล?อแล้วนั้น สมอ. มียังภาระกิจที่ต้องเร่งดำเนินโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติให้แล้วเสร็จตามกำหนดในช่วงต้นปี 2561 โดยเฟสแรกเป็นศูนย์ทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน มอก.2721-2559 การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียกฯ
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจต่อทั้งค่ายรถยนต์และผู้บริโภค นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ประธานกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงความพร้อมในด้านนี้ว่า "ทางสถาบันยานยนต์เองก็ได้เตรียมความพร้อม ในการบริหารห้องทดสอบและสนามทดสอบยางล้อ ด้วยการเตรียมการและฝึกฝนบุคลากรให้มีความชำนาญ เพื่อรองรับการทดสอบมาตรฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น และสร้างความมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน มอก."
"หลังจากนี้ทุกฝ่ายจะมีการบูรณาการความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ถึงความสำคัญของการใช้ยางล้อที่ได้?มาตรฐาน มอก. ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและการใช้งานในประเทศไทย รวมถึงการสร้างกิจกรรมเพื่อรณรงค์ความปลอดภัย ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ต่อไป" นายศิริรุจ กล่าวปิดท้าย