กระทรวงพาณิชย์เปิด Organic Symposium 2017 ในงาน Organic & Natural Expo 2017 ชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไทยสู่ผู้นำตลาดออร์แกนิคในอาเซียน

พฤหัส ๐๓ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๑๑
กระทรวงพาณิชย์เปิดเวที Organic Symposium 2017 ในงาน Organic & Natural Expo 2017 ชูยุทธศาสตร์หลักผลักดันภาคส่วนออร์แกนิคไทยผงาดขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ Organic Symposium 2017 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Organic & Natural Expo 2017 งานแสดงสินค้าและ จำหน่ายสินค้าอินทรีย์และธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ของไทยและแนวทางการขับเคลื่อน" ว่า กระทรวงพาณิชย์มียุทธศาสตร์ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 โดยมีวิสัยทัศน์ให้ "ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มี ความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 600,000 ไร่ ในปีพ.ศ. 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศ ต่อตลาดส่งออกเป็น 40:60 และที่สำคัญคือ การมุ่งที่จะ ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็น แผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายให้เกิดการขยายเกษตร อินทรีย์กว่าเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า

"รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและ ระบบนิเวศโดยรวม และมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญของการผลิตเกษตร อินทรีย์ 4 ด้านที่ทางสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ International Federation of Organic Agriculture Movement (IFOAM) ได้กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านนิเวศวิทยา ด้านความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค และด้านการดูแลเอาใจในเรื่องการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังยึดหลักหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและ หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9"

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับปัจจุบันจึงได้วางยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย

(1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์

(2) พัฒนาการผลิตสินค้าและ บริการเกษตรอินทรีย์

(3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ

(4) การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

"ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อนี้ยังสอดรับกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" หรือ "Thailand 4.0" ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า "โภคภัณฑ์" ไปสู่สินค้าเชิง "นวัตกรรม" เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาค อุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาค การผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น รัฐบาลได้ระบุ 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ไทย สามารถต่อยอดได้ด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนา โดย 2 ใน 5 กลุ่มนั้น ได้แก่ กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็น สองกลุ่มที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรอินทรีย์ไทยที่จะได้ต่อยอดและ พัฒนาต่อไปให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกตามนโยบาย "Thailand 4.0"

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน มุ่งให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อให้สินค้าอินทรีย์ของไทยได้พัฒนารูปแบบและเชื่อมโยงสู่ตลาด สินค้าเกษตรอินทรีย์ในสากลมากขึ้น โดยมี เป้าหมายสำคัญให้ "ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภค สินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน" และมี วัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้และหันมา บริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ เกษตรกรหันมาให้ความสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้น และในที่สุดชุมชนก็จะมีความยั่งยืน และเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในภาพรวมสามารถขยายตัวได้ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจึงกำหนดยุทธศาตร์ด้านการตลาดสินค้า เกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2564 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย (1) สร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอด ห่วงโซ่อุปทาน (2) ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ (3) พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและ บริการอินทรีย์ และ (4) พัฒนาสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์

นางพิมพาพรรณ กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อนี้ ล้วนแต่ตอบสนองแนวโน้มการบริโภคสินค้าอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้น ในตลาดโลก ศักยภาพการขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ของไทยในตลาดโลก สอดรับกับหลักการสำคัญและแนวคิด ของ "Thailand 4.0" และแสดงถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันและส่งเสริม การค้าและการตลาดสินค้าอินทรีย์ของไทย ทั้งในการเชื่อมโยงสินค้าจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคในตลาดภายใน ประเทศ ตลาดภูมิภาค และตลาดโลก ทั้งยังเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ตระหนักถึงความต้องการหรืออุปสงค์ของตลาดโลก เพื่อจะได้ผลิตสินค้าอินทรีย์ให้ตรงกับ ความต้องการของตลาด รวมทั้งเปิดรับการประยุกต์ใช้วิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ กับสินค้าและบริการอินทรีย์ของไทยต่อไป"

สำหรับแผนดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2560 นี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมตาม ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งประกอบด้วย

1) แผนงานในประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โครงการเชื่อมโยงตลาดและ ส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสินค้าที่ได้รับการคัดเลือก โครงการ Organic Thailand Innovation Award งาน Organic & Natural Expo 2017 และงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาค โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าอินทรีย์ โครงการ Opportunities on Organic farms for CLMVT โครงการพัฒนา ฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมและพัฒนา Organic Village และ Organic Farm Outlet

2) แผนงานต่างประเทศ อาทิ โครงการจัดคณะผู้ประกอบการอินทรีย์ของไทยไปเข้าร่วมงาน BIOFACH งานจัดแสดงสินค้าอินทรีย์นานาชาติที่ใหญ่และมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในโลก

นางพิมพาพรรณ ยังกล่าวถึงกรณีศึกษาที่จังหวัดชัยภูมิว่า "จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับภาคเอกชนและกลุ่ม เกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ พบว่าชุมชนดังกล่าว มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสูง มีการผสมผสานวิถีของเกษตร อินทรีย์เข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่กระบวน การเพาะปลูกไปจนถึงการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาด โดยผ่านระบบการบริหารจัดการในชุมชน ตั้งแต่การใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง เพื่อซื้อขายสินค้าระหว่างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มนาแปลงใหญ่ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มชุมชนคนเลี้ยงโคเนื้อ กลุ่มปลูกกล้วยหอมทอง และกลุ่มปลูกแตงโมออร์แกนิค เป็นต้น นับเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะสนับสนุนให้ชุมชนเป็น ต้นแบบของหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Valley) แห่งแรกของไทย ช่วยผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับ เกษตรกรในภูมิภาคอื่นต่อไปด้วย"

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์แล้วทั้งสิ้น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ (1) หมู่บ้าน ริมสีม่วง จ.เพชรบูรณ์ (2) หมู่บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ (3) หมู่บ้านโสกขุมปูน จ.ยโสธร และ (4) หมู่บ้านห้วยพูล จ.นครปฐม โดยในปี 2560 มีแผนที่จะจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 4 แห่ง ในจ.นครพนม ชัยภูมิ ลพบุรี และเชียงใหม่

"เกษตรอินทรีย์ของไทยมีศักยภาพสูง เพราะมีความหลากหลาย มีจำนวนเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์และ ผู้ประกอบการหันมาทำสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์จึงได้มีแผนที่จะผลักดันการค้าสินค้า อินทรีย์ให้ขยายตัวออกไป โดยหวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน มีการสร้างเครือข่าย เกษตรอินทรีย์จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือกลุ่ม CLMV โดยจะมีการเชิญเกษตรกรจาก ประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน และมีการลงมือ ปฏิบัติในแปลงสาธิต การอบรมด้านการตลาด และระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้การประชุมหารือระหว่างเอกชนไทย และเอกชนอาเซียนจากสมาคมเกษตรอินทรีย์ของประเทศต่างๆ ที่มุ่งหวังให้เกิดการจัดตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์ อาเซียน (ASEAN Organic Federation) ในงาน Organic & Natural Expo ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความร่วมมือใน ภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอินทรีย์ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ภาคส่วนอินทรีย์ของอาเซียนเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป" นางพิมพาพรรณกล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ