ในประเด็นนี้ ดร.ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์ ผู้จัดการ-ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรและสร้างห้องเรียน Pop Arts Studio (ป๊อปอาร์ตสตูดิโอ)ของโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า "ในปัจจุบันแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทักษะการใช้เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากสำหรับโอกาสในการทำงานและการดำเนินชีวิต โรงเรียนดาราวิทยาลัย เล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ จึงได้ร่วมกับ บริษัทEOS จำกัด (Education Outsource Service) ผู้ให้บริการออกแบบและจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี ริเริ่มห้องเรียนแห่งอนาคต Pop Arts Studio(ป๊อปอาร์ตสตูดิโอ) หรือ PAS เป็นที่ซึ่งเด็กๆสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทางโรงเรียนมุ่งพัฒนาทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นลำดับขั้น มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อยอดในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เราจึงมุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะ มีความพร้อม เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นผู้นำทางความคิด กล้าคิด กล้าแตกต่าง กล้านำเสนอ และมีความรับผิดชอบ อันจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต ห้องเรียน PAS แบ่งหลักสูตรการเรียนรู้ออกเป็น 2 ระดับ คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานได้ตามจินตนาการและความต้องการของนักเรียนอย่างเหมาะสม ด้วยอุปกรณ์ Macbook Air และ iPad ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จะใช้อุปกรณ์ iMac และ Digital Camera ในการฝึกฝนเรียนรู้และเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีในขั้นที่สูงขึ้น"
เด็กชายบัสซัม อัลฉับบาน หรือน้องบัสซัม อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า "ในห้องเรียน PAS จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยหลากหลายอย่าง ปกติแล้วที่บ้านผมจะใช้คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แต่ที่โรงเรียนจะเพิ่มแมคโอเอส หรือระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเข้ามาด้วย ทำให้เราสามารถใช้ได้ทั้งสองแบบ รู้ถึงข้อดีข้อเสียรวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ผมอยากจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะในอนาคตผมอยากจะเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ครับ"
เด็กหญิงกานต์ศุภางค์ แก้วแดง หรือน้องพีซ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า "โครงการนี้ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของหนู โดยคุณครูจะคอยปลูกฝังให้นักเรียนกล้าคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งหนูสามารถใช้โปรแกรม iMovie ตัดต่อคลิปวีดีโอแบบง่ายๆได้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบการ์ดอวยพร ทำเข็มกลัดและกระเป๋าผ้าเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษได้อีกด้วยค่ะ"
เด็กชายวชิรศักดิ์ นิ่มไพฑูรย์ หรือน้องดีด๊อยซ์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กล่าวว่า "เมื่อเริ่มเข้าสู่ระดับชั้นมัธยม หลายคนคงเริ่มค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือพยายามฝึกฝนความถนัดด้านต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับอาชีพการงานในอนาคต ผมเองนั้นอยากจะเป็นแคสเตอร์ หรือนักพากย์เกม ซึ่งผมสามารถนำความรู้ในชั้นเรียนอย่างการตัดต่อวีดีโอ ถ่ายทำรายการ วางสตอรี่บอร์ด มาประยุกต์ใช้ได้ โดยหวังว่าความชื่นชอบนี้จะสามารถพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปได้ ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมมองว่าเด็กหลายคนอยากเรียนรู้แต่ขาดโอกาสอยู่ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด กว่าที่จะค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบก็อาจจะสายไป เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะแข่งขันกับคนอื่นๆได้ จึงอยากให้ผู้ใหญ่และภาครัฐเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างทั่วถึงครับ"
เด็กหญิงศุภิสรา ใจบาล หรือน้องขิม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า "ในชั้นเรียนจะมีหลากหลายหลักสูตรให้เรียนรู้ อาทิ การทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นโดยใช้เทคนิคสต็อปโมชั่น หรือโปรเจกต์ยัง รีพอร์ตเตอร์ ที่หนูชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะส่วนตัวใฝ่ฝันที่จะทำอาชีพผู้ประกาศข่าวในอนาคต นักเรียนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเขียนสคริปต์ข่าว ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล ตัดต่อวีดีโอ ใส่กราฟฟิก นอกจากนี้คุณครูยังเปิดรับฟังไอเดียใหม่ๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานในเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย หนูคิดว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างนิสัยช่างคิด ช่างวิเคราะห์ และสามารถนำไปต่อยอดกับงานใดๆก็ได้ค่ะ"
โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ เด็กทุกคนไม่สามารถมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้เองที่บ้านได้ แต่ภาครัฐและสถาบันการศึกษาสามารถจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เด็กๆได้ ถ้าหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเป็นการลงทุนที่ไม่สูญเปล่า เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเราสามารถสร้างประชากรที่มีความรู้ความสามารถ ผลประโยชน์ทั้งหลายก็จะย้อนกลับมาที่ประเทศชาติและประชาชนทุกคนนั่นเอง
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับห้องเรียน Pop Arts Studio ได้ที่https://www.facebook.com/PopArtsDara/