นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในโครงการการศึกษาแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ปีเพาะปลูก 2559/60 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ สำรวจกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวอินทรีย์ พบว่า ต้นทุนและผลตอบแทนข้าวอินทรีย์ มีต้นทุนรวม 3,673.77 บาทต่อไร่ และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับ พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 335.21 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาที่ขายได้เฉลี่ย 13.81 บาทต่อกิโลกรัม และมีรายได้จากการขายผลผลิต 4,629.25 บาทต่อไร่ ซึ่งเมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว จะได้กำไรสุทธิเฉลี่ย 955.48 บาทต่อไร่
จังหวัดสุรินทร์ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดนำร่องในการขยายตลาดผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วไป ทำให้เกษตรกรที่ผลิตเป็นอินทรีย์รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ภายในจังหวัด รวมประมาณ 18 กลุ่ม มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งจังหวัด ประมาณ 29,040 ไร่ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการขายข้าวในรูปแบบข้าวเปลือกอินทรีย์ เกษตรกรจะนำไปขายให้กับกองทุนข้าวเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ และเกษตรกรในแต่ละกลุ่มจะได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตรวจผ่านมาตรฐานการรับรองของ คู่ค้า เช่น NOP EU Fairtrade IFOAM COR Bio Suisse มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ (มก.สร.) PGS มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) และ Organic Thailand เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์แล้ว ในบางกลุ่มยังได้ริเริ่มพัฒนาต่อยอดข้าวอินทรีย์เป็นเวชภัณฑ์ เป็นแหล่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ทั้งนี้ ท่านที่สนใจสามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมผลการศึกษาครั้งนี้ได้ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 โทร.044 465 079 หรือ 044 465 120 ในวันและเวลาราชการ หรือ อีเมล [email protected]