นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน และกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงบประมาณ หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนิตย์ เอนกวิทย์) เป็นกรรมการและเลขานุการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 3 ประเด็น คือ
1) ร่างคำสั่งและองค์ประกอบของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 คณะ โดยภาคเหนือ มีอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคกลาง อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออกเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคใต้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และภาคใต้ชายแดน มีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ แต่ละคณะจะมีหน่วยงานในสังกัดของประธานอนุกรรมการเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งจะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ให้การดำเนินงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564
2) แผนปฏิบัติงานปีงบประมาณ 2560 (ก.ค. - ก.ย.) และปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ
และ 3) โครงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ครบวงจรเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยจัดทำเป็นโครงการต้นแบบ ส่งเสริมการผลิตในลักษณะ Area Based เชื่อมโยงสู่การเป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ครบจงจร เน้นการทำงานแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแรงงจูงใจให้กับเกษตรกรที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืช สัตว์ สัตว์น้ำ ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานมหกรรมผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์พบผู้บริโภค เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และสร้างกลุ่มต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 - 10 กลุ่ม ตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ 4 เรื่อง คือ 1) การจัดงานOrganic and Natural Expo 2017 โดยกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2560 2) การเสนอรายชื่อผู้แทนเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบและแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด ที่ได้มีการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 36 จังหวัด 3) การจัดทำแผนที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic mapping) เพื่อแสดงพื้นที่เหมาะสมกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลการผลิตและช่วงเวลาของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด โดยจะพัฒนาเป็น Mobile Application ในปี 2561และ 4) ผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์