นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดประชุมหารือโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2560 ทั้ง 6 จังหวัด เพื่อนำเสนอหลักการในการบริหารจัดการพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม รวม 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 13 มิถุนายน 2560 ภาคใต้ชายแดน จังหวัดสงขลา วันที่ 15 มิถุนายน 2560 ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และ ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี วันที่ 18 กรกฎาคม 2560
การหารือได้ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) และผู้แทนภาคเกษตรกร เช่น ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) รวมทั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรของ 6 จังหวัด ทั้งการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต/ผลตอบแทน และการวิเคราะห์ปริมาณและความต้องการ ของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงสุดใน 4 ลำดับแรก (Top 4) ของแต่ละจังหวัด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมนำเสนอศักยภาพพื้นที่ และแผนที่ความเหมาะสมของสินค้า Top 4 ของจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-Map ระดับจังหวัด
นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลสถานการณ์ด้านการเกษตร มาตรการเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เหมาะสม (S1) และแนวทางให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สอดคล้องกับศักยภาพ เช่น การปลูกพืชแซม การจัดการ ดิน น้ำ ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N)โดยมีการนำเสนอพืชทางเลือก ดังนี้
จังหวัดพิษณุโลก พืชทดแทนข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น อ้อยโรงงาน มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยน้ำว้า
จังหวัดชัยภูมิ พืชที่ควรปลูกเสริมในพื้นที่ข้าวที่ไม่เหมาะสม เช่น หม่อน รวมทั้งการเลี้ยงไหม โค และกระบือ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี พืชทดแทนยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว
จังหวัดสงขลา พืชทดแทนข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ปาล์มน้ำมัน พืชผัก (คะน้า มะระ บวบ) กล้วยหอมทอง รวมทั้งการเลี้ยงสุกร และโคเนื้อ พร้อมทั้งมีกิจกรรมเสริมในพื้นที่ปลูกยางพาราที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ สละ พืชสมุนไพร ไก่พื้นเมือง โคเนื้อสุกร
จังหวัดชัยนาท พืชทดแทนข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง รวมทั้งการปลูกพืชอาหารสัตว์และส่งเสริมการทำปศุสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ การเลี้ยงแพะ โคเนื้อ ลูกไก่งวง และการทำเกษตรแบบผสมผสาน
จังหวัดจันทบุรี พืชที่ควรปลูกเสริมในสวนยางพาราและไม้ผล เช่น สมุนไพร (กระวาน เร่วหอม) พืชไร่ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
ทั้งนี้ กรณีสินค้าทดแทนที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการในระดับประเทศด้วย เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด อันจะส่งผลให้ราคาตกต่ำตามมา ส่วนสินค้าทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ อาจไม่ใช่สินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่ม เช่น มะละกอ เพาะเห็ด ผักพื้นบ้าน ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วยไข่ โกโก้ อะโวคาโด เป็นต้น โดยเกษตรกรท่านใดที่ให้ความสนใจในกิจกรรมทางเลือกดังกล่าว ก็สามารถข้อมูลที่สศก. ได้นำเสนอไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป