เปลี่ยนขยะเป็นกระดาษ สร้างสำนึกสิ่งแวดล้อม

ศุกร์ ๐๔ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๑๘

ภาพชานอ้อยที่ถูกคั้นความหวานกองทิ้งอย่างไม่ใยดีข้างทาง มีให้เห็นระหว่างทางจากบ้านมาโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา ต.คูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นภาพชินตาที่ทำให้ครูกุ้ง-กันตพงศ์ สีบัว รู้สึกไม่สบายใจนัก เพราะเห็นชานอ้อยบางส่วนตกลงไปในคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย และเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เป็นปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครใส่ใจนัก ครูกุ้งจึงชวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนกศิลป์-สังคม ซึ่งประกอบด้วย บีม-พีรพัฒน์ พรมสีนอง ต้น-สรวิชญ์ วัฒขาว ตูม-เสฏฐวุฒิ ฮั่นบุญศรี เสก-เสกฐวุฒิ คำแก้ว และ ณัฐ-ณัฐพงษ์ มั่นจิตต์ ศึกษาข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

โครงการเปลี่ยนชานอ้อยเป็นกระดาษ เป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นช่องทางที่เอื้อให้นักเรียนแก้ปัญหาและลดมลภาวะจากขยะชานอ้อยโดยการทำให้เกิดประโยชน์ สร้างจิตสำนึกให้นักเรียนและพ่อค้าแม่ค้ารู้ถึงผลกระทบจากขยะชานอ้อยด้วย

เสกเล่าว่า ในพื้นที่ชุมชนมีการปลูกและขายน้ำอ้อยเป็นจำนวนมาก หลังคั้นน้ำอ้อยเสร็จแล้ว พ่อค้าแม่ค้ามักนำชานอ้อยไปวางทิ้งไว้ตามโคนต้นไม้ อ้อยเป็นพืชที่มีน้ำตาลสูง เมื่อมีการทับถมกันมากๆ น้ำอ้อยจะซึมลงดินจึงส่งผลให้ต้นไม้ตายในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีชานอ้อยบางส่วนตกลงไปในคลองภูมีที่ไหลลงสู่ทะเลสาปสงขลาที่ ต.ปากบาง อ.ควนเนียง จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้เริ่มมีปัญหาน้ำเน่าเสียแล้วในบางจุด

นอกจากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว อีกเหตุผลที่ทีมงานรวมตัวกันทำโครงการนี้เพราะการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีเวลาว่างค่อนข้างมาก คิดว่าน่าจะใช้เวลาว่างที่มีอยู่ช่วยแก้ปัญหาของชุมชน จึงนำประสบการณ์ที่ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาสอนเกี่ยวกับการทำกระดาษจากใบสับปะรดมาคิดต่อยอดว่า ถ้าเปลี่ยนใบสับปะรดมาเป็นชานอ้อยจะสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้ก็ช่วยโรงเรียนลดค่าใช้จ่ายเรื่องกระดาษที่นำมาใช้ในงานประดิษฐ์ และการจัดบอร์ดลงได้

ทีมงานระดมกำลังช่วยกันสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหาความรู้เกี่ยวกับการทำกระดาษอย่างแข็งขัน พร้อมกับลงพื้นที่สำรวจร้านขายน้ำอ้อยรอบโรงเรียน พบร้านขายน้ำอ้อยถึง 4 ร้าน จึงกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงาน ครอบคลุมร้านขายน้ำอ้อยฝั่งพัทลุงหน้าปั๊มบีพี 1 แห่ง ร้านน้ำอ้อยฝั่งรัตภูมิ 1 แห่ง และร้านน้ำอ้อยแถบตำบลคูหาใต้อีก 2 แห่ง

บีมเล่าว่า ช่วงแรกทีมงานทดลองทำกระดาษจากชานอ้อยด้วยตนเอง โดยแบ่งบทบาทกันตามขั้นตอนการผลิตกระดาษคือ หาชานอ้อย สับ ต้ม ปั่น ร่อน ส่วนตำแหน่งในโครงการมีตูมเป็นประธาน เสกเป็นเลขา ต้นเป็นรองประธาน บีมเป็นผู้ช่วย ณัฐรับผิดชอบดูแลเรื่องบัญชีการเงิน รวมทั้งมีการออกแบบและทำอุปกรณ์เองทั้งหมด โดยเฉพาะเฟรมร่อนที่ใช้สำหรับกรองเยื่อชานอ้อยที่ปั่นแล้วเพื่อขึ้นรูปเป็นกระดาษ แต่เมื่อทดลองใช้งานก็พบว่ายังใช้ได้ไม่ดีนัก เพราะตระแกรงลวดหย่อน เนื้อกระดาษจึงไม่เรียบเสมอกันทั้งแผ่น จึงแก้ปัญหาด้วยการสั่งทำเฟรมใหม่จากร้านอลูมิเนียม

เนื่องจากสูตรการทำกระดาษตั้งต้นมาจากใบสับปะรด เมื่อต้องเปลี่ยนวัสดุมาเป็นชานอ้อย ทีมงานจึงต้องทดลองหลายครั้งและหลายสูตร เพื่อหาสูตรที่เหมาะสม โดยเฉพาะการหาสัดส่วนของการใส่โซดาไฟที่ใช้ต้มชานอ้อยให้เปื่อยยุ่ยพอดี เวลา 2-3 คาบเรียนในชั่วโมงชุมนุม จึงถูกใช้เพื่อการทดลองเพื่อหาคำตอบดังกล่าว ระหว่างรอผลการทดลอง ทีมงานพากันไปรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของขยะชานอ้อยแก่แม่ค้า โดยก่อนรณรงค์ได้มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาจากชายอ้อยไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นประเด็นในการสำรวจสภาพในพื้นที่ว่า ตรงกับข้อมูลที่สืบค้นมาหรือไม่ แล้วคัดสรรแต่เนื้อหาหลักๆ ที่ตรงกับสภาพพื้นที่มาใช้รณรงค์ต่อไป

แม้การรณรงค์ให้ความรู้จะอยู่ในแผนของทีมงาน แต่ท่าทีในการลงไปพูดคุยกับแม่ค้าขายน้ำอ้อยคือ การทำทีไปซื้อน้ำอ้อย แล้วก็พูดคุยสอดแทรกโทษของชานอ้อยอย่างเนียนๆแล้วชวนคุย ทำให้ทีมงานรู้ว่า การขายน้ำอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน ประมาณ 3 -4 เดือน แต่ละร้านจะมีชานอ้อยเหลือทิ้งในประมาณ 150 กิโลกรัมต่อวัน ทีมงานจึงติดต่อขอชานอ้อยจากแม่ค้า โดยนัดหมายนำกระสอบสำหรับเก็บชานอ้อยมาให้ และนัดวันเก็บ

หลังรณรงค์เสร็จ ทีมงานกลับมาสรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน ทุกคนเห็นตรงกันว่า การรณรงค์ได้ผลค่อนข้างดี คือทีมงานได้บอกแม่ค้าเรื่องโทษของชานอ้อย ขอร้องไม่ให้ทิ้งชานอ้อยลงในลำคลอง ทั้งยังได้ประสานงานขอชานอ้อยไว้ด้วย

เมื่อทดลองจนได้สูตรที่ลงตัวแล้ว คือ หลังทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดมากับชานอ้อยเสร็จแล้ว ต้องสับชานอ้อยให้มีขนาด 3-5 เซนติเมตร แล้วนำชานอ้อยหนัก 7.5 กิโลกรัมไปต้มโดยใส่น้ำให้ท่วมชานอ้อยทั้งหมด ใส่โซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) 200 กรัม ขณะต้มต้องคอยคนเป็นระยะๆ ประมาณ 40 นาที เสร็จแล้วปล่อยให้เย็นแล้วนำชานอ้อยที่ต้มแล้วไปล้างน้ำสะอาดให้หมดเมือกลื่น นำไปปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้วจึงนำไปใส่กะละมังหรือบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่ผสมน้ำไว้แล้ว ใช้มือคนให้ทั่วและยกดูความหนาของเยื่อกระดาษให้ได้ความหนาตามต้องการ จากนั้นจึงนำเฟรมมาช้อนเยื่อกระดาษ นำไปตากแดดให้แห้งทั่วทั้งแผ่น เมื่อกระดาษแห้งสนิทจึงลอกออกจากแผ่นเฟรมอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระดาษขาด

"ถ้าต้องการให้กระดาษมีสีสันสวยงามต้องนำชานอ้อยไปต้มรวมกับสีที่ต้องการอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้สีย้อมผ้า การย้อมสีครึ่งปี๊บใช้สีครึ่งซอง คือ 7.5 กรัม (สี 1 ซอง 15 กรัม) ต้มย้อมสีแล้วนำไปปั่นละเอียด ถ้าอยากให้กลิ่นหอมให้ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม แล้วจึงนำไปปั่นและร่อนการจะร่อนให้ได้กระดาษที่มีขนาดเท่ากันทั้งแผ่น คนที่ทำหน้าที่ร่อนต้องมีสมาธิในการยกเฟรม ไม่ให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มิเช่นนั้นกระดาษจะมีความหนาบางไม่เท่ากัน" ต้นอธิบายเทคนิคการย้อมสีกระดาษ

สูตรที่ค้นพบเป็นการทำกระดาษจากชานอ้อยล้วนๆ โดยไม่ต้องผสมเยื่อกระดาษชนิดอื่นปน เพราะชานอ้อยมีความเหนียว เมื่อมั่นใจในสูตรที่ค้นพบ ทีมงานจึงเริ่มหาสมาชิกที่จะมาร่วมเรียนรู้ โดยทีมงานเห็นว่า การตั้งเป็นชุมนุมน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะได้สมาชิกแล้ว ยังมีเวลาปฏิบัติงานที่แน่นอน และที่สำคัญคือมีการสืบทอดสู่รุ่นน้อง จึงหารือกับที่ปรึกษาโครงการขอตั้ง "ชุมนุมมิตรรักสิ่งแวดล้อม" โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ 20 คน กิจกรรมหลักของชุมนุมคือ การจัดการกับชานอ้อยโดยตรง ในคาบชุมนุมทีมงานจะทำความเข้าใจและอธิบายถึงผลกระทบจากการทิ้งชานอ้อย และสาธิตวิธีการทำกระดาษจากชานอ้อย ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มสมาชิกตามขั้นตอนการทำกระดาษ

เมื่อผลงานกระดาษจากชานอ้อยเริ่มปรากฏแก่สายตาของคณะครู และนักเรียนในโรงเรียน จึงมีผู้ขอกระดาษไปใช้ห่อของขวัญและจัดบอร์ดอยู่เนืองๆ พร้อมกันนั้นครูที่อาศัยอยู่ในชุมชนร่วมพัฒนาที่ 3 ตำบลกำแพงเพชร ได้ประสานกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชนให้รับซื้อกระดาษชานอ้อยไปทำดอกไม้จันทน์สร้างรายได้เสริม กระดาษชานอ้อย 1 แผ่น สามารถทำดอกไม้จันทน์ได้ 3-4 ดอก ทีมงานจึงสามารถสร้างรายได้จากการขายกระดาษได้อีกทางหนึ่ง

"กระดาษชานอ้อยขายปลีกราคาแผ่นละ 5 บาท หากขายส่งราคาจะลดลงมานิดหน่อย แต่กำลังการผลิตของเรายังน้อย เพราะมีเฟรมไม่มากและยังขึ้นอยู่กับแสงแดด ครั้งหนึ่งจึงผลิตได้เพียง 15-20 แผ่น เงินที่ขายได้ก็เก็บไว้เป็นทุนซื้ออุปกรณ์" เสกเล่า

ทีมงานตั้งใจเก็บรายได้ไว้เป็นทุนซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม เพราะเฟรมมีราคาสูงถึง 250 บาท ต้องทำกระดาษ 50 แผ่น จึงจะได้เฟรมใหม่ 1 อัน หากจะทำกระดาษแผ่นใหญ่ขึ้นก็ต้องใช้เฟรมขนาดใหญ่ซึ่งราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก แต่ก็เป็นแนวทางการทำงานที่ทีมงานตั้งใจทำต่อไป เพราะถ้ามีอุปกรณ์เพียงพอ ก็จะสามารถผลิตกระดาษได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นคงต้องคิดเรื่องการจัดสรรรายได้เป็นค่าตอบแทนสมาชิกให้เป็นรายได้ระหว่างเรียน และเป็นเงินกองกลางใช้ในการทำงานของกลุ่ม หรือรายได้ช่วยเหลือโรงเรียนต่อไป

นอกจากการแปรรูปกระดาษโดยสมาชิกในโรงเรียนและกลุ่มแม่บ้านชุมชนร่วมพัฒนาที่ 3 ตำบลกำแพงเพชรแล้ว ชุมนุมมิตรรักสิ่งแวดล้อมก็ได้สนับสนุนให้สมาชิกในชุมนุมฝึกการแปรรูป สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากกระดาษชานอ้อย บางคนก็ทำโคมไฟ (เหมือนโคมกระดาษสา) สมุดบันทึก กรอบรูป ถุงกระดาษใส่ของ ฯลฯ การทำกระดาษจากชานอ้อยแม้จะเป็นส่วนน้อยในการแก้ปัญหาชานอ้อย แต่ก็ทำให้ข้างถนนที่มีการสัญจรไปมาสะอาดขึ้น และลดการเกิดน้ำเน่าเสียที่จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาอันเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้คนในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบ

ครูกุ้ง เล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น ทั้งเรื่องมลภาวะจากชานอ้อย การทำกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งเป็นบทบาทที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน และกระบวนการผลิตกระดาษของโครงการยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในสาระอื่นๆ เช่น ครูสาระวิทยาศาสตร์นำความรู้ และขอยืมอุปกรณ์ไปใช้สอนในเรื่องการทำกระดาษจากเยื่อพืชใบเลี้ยงเดี่ยว

แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์คือ ผลงานของทีมงานสามารถตอบสนองความต้องการใช้กระดาษจำนวนมากในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ทำให้โรงเรียนลดค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง และสิ่งที่อยากเห็นคือ การต่อยอดในโรงเรียนอื่นๆ หรือชุมชน เชื่อว่าหากหลายๆ หน่วยงานช่วยกันนำชานอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสีย และมลภาวะจากขยะลงได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย