มูลนิธิกระจกอาซาฮี มอบทุนฯ 6 งานวิจัย มจธ. เพิ่มศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ

อังคาร ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๑๐
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation -AF) ประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 6 ซึ่งถือเป็นทุนวิจัยที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยเน้นให้การสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ โครงการวิจัยที่มีนวัตกรรมและมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และสามารถสร้างผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าให้กับประเทศชาติใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ (Information Sciences and Automatic Control) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) และสาขาพลังงาน (Energy) โดยในปี 2560 นี้ มีนักวิจัยจาก มจธ. ได้รับทุนวิจัยถึง 6 ท่าน 6 งานวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์, ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล, ดร.นฤมล ตันติพิษณุ, ดร.เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม, ดร.สุภโชค ตันพิชัย และผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี

สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ 2 ท่าน คือ ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง "หุ่นยนต์ที่สามารถรู้จำเสียงพูดสำหรับช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก" จากเดิมสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ BLISS ออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญในการบำบัด ให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ความรู้ตามระดับพัฒนาการ พร้อมเรียนรู้การควบคุมตนเองในสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านการเล่นเกมตามกฎกติกาของเกม เพื่อให้หุ่นยนต์ BLISS มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการได้ทั้งด้านการสื่อสารกับผู้อื่น (Social Communication) ควบคู่กับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ที่มีอยู่เดิม จึงพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ BLISS ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกให้เข้าใจสิ่งที่เด็กพูดและสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รู้จำเสียงพูดของมนุษย์ หรือ Speech Recognition และดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ "ระบบทำแบบจำลองคณิตศาสตร์อัตโนมัติสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่" เป็นการพัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ และการเข้าใจในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการจัดการระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากขององค์กร เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มโทรคมนาคม เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกนำมาวิเคราะห์หารูปแบบปรับปรุงเพื่อพัฒนาในการดำเนินงานขององค์กรให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 ท่าน คือ ดร.นฤมล ตันติพิษณุ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ผลงานวิจัย "สถานภาพการกระจายของนากที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทย" "นาก" เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กระดับสูงสุดของระบบนิเวศป่าชายเลนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ข้อมูลจากการประชุมสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในประเทศไทยปี 2552 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีข้อมูลสถานภาพการกระจายของสัตว์กลุ่มนี้อยู่น้อยมากโดยเฉพาะทางภาคใต้และเป็นข้อมูลเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสำรวจซ้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลการกระจายที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งทราบถึงภัยคุกคามต่างๆ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้มีความสำคัญต่อการวางแผนการจัดการด้านการอนุรักษ์ งานวิจัยนี้จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพังงาและกระบี่ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจยังจะเป็นประโยชน์ต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพ เป็นแนวทางให้ ทช. พิจารณาในการประกาศพื้นที่อนุรักษ์และการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ (zoning) ในอนาคต และ ดร.เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม สายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี งานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาบาซิลลัสซับทิลิสเป็นวัคซีนที่สามารถผลิตโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดีได้ทั้งในระยะเซลล์และสปอร์" งานวิจัยนี้มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคพีอีดี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสพีอีดีที่ติดเชื้อในหมู โดยใช้บาซิลลัสซับทิลิส (Bacillus subtilis) เป็นระบบนำส่งวัคซีนผ่านระบบทางเดินอาหารเพื่อไปยังตำแหน่งลำไส้เล็ก ซึ่งวัคซีนที่ใช้ระบบบาซิลลัสซับทิลิสนี้สามารถให้กับหมูโดยการผสมกับอาหารแล้วให้ผ่านการกินทางปาก บาซิลลัสซับทิลิสจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดี ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสพีอีดีที่จะเข้ามาในร่างกายของหมูในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ลดการใช้เข็ม และไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการให้วัคซีน บาซิลลัสซับทิลิสที่จะใช้เป็นวัคซีนนี้จะใช้ในรูปแบบของสปอร์ เพราะมีความทนกรด ทนร้อน ทำให้เก็บรักษาง่าย และไม่ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบาซิลลัสซับทิลิสสายผสมที่สามารถสร้างโปรตีน S1 ของไวรัสพีอีดีได้ทั้งในระยะสปอร์และเซลล์ด้วย เพื่อใช้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

สาขาวัสดุศาสตร์ 2 ท่าน คือ ดร.สุภโชค ตันพิชัย สถาบันการเรียนรู้ โดยผลงานวิจัยเรื่อง "การเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร" เป็นงานวิจัยโดยใช้ใบสับปะรดเป็นสารตั้งต้นในการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำแรงดันสูง เพื่อทำลายพันธะที่ยึดเกาะกันระหว่างเส้นใยเซลลูโลสระดับไมโคร จนได้เป็นเส้นใยขนาดนาโนที่มีการกระจายตัวแยกออกจากกัน ซึ่งมีความแข็งแรงสูง น้ำหนักเบา ความทนทานต่อสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีลักษณะโปร่งแสง ยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น การปรับปรุงสมบัติบางประการของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยที่ยังคงความใสของฟิล์มไว้ได้ เช่น สมบัติเชิงกล สมบัติทางความร้อน หรือสมบัติการแพร่ผ่านของก๊าซ ใช้ทางด้านวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผ้าปิดแผล หรือ หลอดเลือดเทียม หรือใช้ในงานทางด้านการกรองสารพิษจากน้ำ หรืออากาศอีกด้วย ทางด้าน ผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์การเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าโดยการใช้สปริงจานลามิเนตที่ประกอบด้วยวัสดุเพียโซอีเล็คทริก" การออกแบบอุปกรณ์เพื่อการเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าจากการสั่นสะเทือน เช่น เครื่องจักร การเคลื่อนที่ของคน เป็นต้น ซึ่งเป็นพลังงานที่สูญเสียไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า จึงคิดค้นอุปกรณ์รูปแบบจานสปริงลามิเนต นำมาเจาะรูตรงกลาง ออกแบบให้สามารถยุบตัวได้มากกว่าปกติเมื่อเกิดความเคลื่อนไหว การที่จานสปริงมีการยุบตัวได้มาก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้มาก จะเก็บพลังงานได้มากเมื่อมีแรงเข้าไปกระทบ และเกิดการสะสมพลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนไหว หรือแรงสั่นสะเทือนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับวัตถุมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้

รวมทุนวิจัยที่ได้รับจำนวน 3 ล้านเยน หรือประมาณ 920,000 บาท เพื่อให้นักวิจัยไทยได้นำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นงานวิจัยที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ