อย่างไรก็ตามขณะนี้ กรมฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว ตามข้อสั่งการของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
1. จัดส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 0.45 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 เพื่อเป็นการสนับสนุนเทศบาลเมืองสกลนครเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
2. นำขบวนคาราวาน จำนวน 14 คัน บรรจุสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคและวัตถุดิบประกอบอาหาร เพื่อนำไปมอบให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560
3. จัดเตรียมแบบบ้านผู้ประสบภัยพร้อมประมาณราคา จำนวน 4 แบบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นกรณีเร่งด่วนได้ โดยมีราคาค่าก่อสร้างประมาณ 280,000 บาทจนถึง 400,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของบ้านด้วย
4. มอบ "คู่มือตรวจสอบและซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด" เพื่อแจกให้แก่ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ ซ่อมแซมบูรณะ บ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ประชาชนหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถขอรับได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสกลนคร หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
5. จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อสำรวจสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่กีดขวางทางน้ำ เช่น สะพาน ท่อลอด ถนน เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำมาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้ดีขึ้น และให้คำปรึกษา สำรวจออกแบบและประมาณราคา เกี่ยวกับการตรวจสอบซ่อมแซมบูรณะ สาธารณูปโภคพื้นฐาน บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อนำเสนอของบประมาณซ่อมแซม ปรับปรุงหรือก่อสร้างทดแทนกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่มีเจ้าภาพหรือเกินขีดความสามารถของท้องถิ่น โดยสามารถขอรับการบริการและคำปรึกษาได้ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสกลนคร โทร. 042-718995
6. การวางแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนจังหวัดสกลนคร ไว้ในปี พ.ศ. 2554 แล้ว โดยจะนำมาทบทวนเพื่อปรับให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นครั้งนี้และนำไปสู่การตั้งงบประมาณก่อสร้างต่อไปในปี 2562
ขณะนี้กรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองเพื่อการบรรเทาอุทกภัย โดยได้กำหนดให้มีการศึกษาโครงการวางผังและมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำโขงไว้ในปี 2562 โดยจะมีมาตรการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ผังระบบระบายน้ำของจังหวัดและโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ และโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งศึกษาปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ นำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำ และโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และกำหนดพื้นที่ทางน้ำหลาก ( Floodway) พร้อมมาตรการด้านผังเมืองและด้านควบคุมอาคาร เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และรักษาทางน้ำหลากไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางเพื่อให้สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว จึงขอความร่วมมือประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว จึงขอขอบคุณล่วงหน้า ณ โอกาส นี้ //////