สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงยึดหลักปรัชญาการทรงงานในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชกรณียกิจที่ทรงเคียงคู่กันตลอดรัชสมัยล้วนสอดคล้องเชื่อมประสาน เพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ "ธำรงไว้ในแผ่นดิน...ด้วยพระบารมี" นำเสนอพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระวิริยอุตสาหะในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการฟื้นฟู อนุรักษ์ สิ่งที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป แก้ไขปัญหาเรื่อง การกินอยู่ สุขอนามัย โอกาสทางการศึกษา และการสร้างอาชีพให้กับราษฎร ตลอดจนทรงวางรากฐานไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน แบ่งการจัดแสดงออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
- คืนชีวิตสรรพสัตว์ เพื่อความกินดีอยู่ดี มีพระราชปณิธานที่จะฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและพันธุ์สัตว์น้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนคุณภาพดีให้คนไทย เช่น โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย โดย กรมประมงรับสนองพระราชดำริด้วยการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก และเพาะเลี้ยงปลาไทย ๑๗ ชนิดที่ปรากฏชื่อตามกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เช่น ปลานวลจันทร์ ปลาคางเบือน ปลาตะเพียนทอง ปลาแก้มช้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการขยายพันธุ์ กุ้งก้ามกราม และการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์แมลงทับ เพื่อนำไปสร้างสรรค์งานประณีตศิลป์ที่ทรงคุณค่า เป็นต้น
- ทรงพลิกฟื้นพืชพันธุ์ ธัญญาหารและไม้หายาก อาทิ โครงการบอนสีในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส, ข้าวสังข์หยด จังหวัดพัทลุง และข้าวพันธ์เล็บนก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
- ความภูมิใจของไทย สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ ทรงส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยง ปลาเรนโบว์ เทราต์ ปลาสเตอร์เจียนและคาเวียร์ การผลิตดอกเกลือจากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง เป็นต้น ด้วยความห่วงใยในปัญหาปากท้องของราษฎร ทรงมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ และแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ
- อนุรักษ์งานศิลป์ สืบสานภูมิปัญญา สิ่งหนึ่งที่ทรงพบคือ ความเป็นศิลปินที่อยู่ในสายเลือดของคนไทย ทรงส่งเสริมให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาในศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นที่ใกล้จะสูญหาย และส่งเสริมให้ถ่ายทอด ให้คงอยู่เป็นมรดกของแผ่นดินต่อไป เช่น งานคร่ำ ย่านลิเภา ผ้าไหมแพรวา จักสานไม้ไผ่ ตุ๊กตาชาววัง และงานปักซอย เป็นต้น
นิทรรศการครั้งนี้ ธนาคารฯ ได้รับความกรุณาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ความอนุเคราะห์วัตถุจัดแสดงและข้อมูลประกอบ นิทรรศการจัดแสดงถึงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ (เว้นวันหยุดธนาคาร) เวลา ๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๒-๕๔๔-๓๘๕๘