นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อเผยแพร่ข่าวว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการล่อลวงและลักพาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านยากจน เช่น กัมพูชาและเมียนมา โดยเหยื่อเหล่านี้หลายคนถูกบังคับให้ทำงานค้าประเวณีในประเทศไทย และงานที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เช่น ประมง ก่อสร้าง ภาคเกษตร ว่า กสร. ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งได้มุ่งเน้นการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและสวัสดิการตามกฎหมาย การเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้ทราบสิทธิหน้าที่นายจ้าง ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และใช้สิทธิในการยื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เป็นต้น และได้กำหนดมาตรการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ กำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงาน เช่นการใช้แรงงานเด็กในงานทั่วไป การก่อสร้าง ภาคเกษตรกรรม การจ้างแรงงานจะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป การจ้างงานในงานประมง แปรรูปสัตว์น้ำต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป การปรับเพิ่มโทษกรณีที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดให้มีอัตราโทษสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง กสร. ได้จัดชุดเฉพาะกิจคุ้มครองแรงงานตรวจสอบการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ โดยเน้นกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ประมง ก่อสร้าง ภาคเกษตร หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินคดีนายจ้างทันที โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึง มิถุนายน 2560 ได้เนินการตรวจสถานประกอบกิจการกลุ่มนี้ไปแล้ว 38 แห่ง ลูกจ้างได้รับการคุ้มครอง 4,499 คน แบ่งเป็นสัญชาติไทย 1,426 คน ต่างด้าว 3,073 คน พบการกระทำผิดฐานใช้แรงงานเด็กและไม่แจ้งการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 13 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปปรับใช้ในสถานประกอบกิจการเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการละเมิดสิทธิแรงงานนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงาน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและสมาคมกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปปฏิบัติเป็นจำนวนมาก โดยมีสถานประกอบกิจการนำ GLP ไปปฏิบัติแล้ว จำนวน 3,523 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 74,000 คน โดยแบ่งเป็นสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมประมงทะเลและกิจการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 88 แห่ง สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก จำนวน 3,435 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล นายจ้าง ลูกจ้างไม่เอาเปรียบกัน และหากพบการกระทำความผิดหรือต้องการแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1546 หรือทางเว็บไซต์ และสามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทุกพื้นที่หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด