กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินประจำไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปี 2549 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ : กำไรจากการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2549 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 12,082 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากเงินลงทุน ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ขาดทุนจากการขายลูกหนี้ และภาษีเงินได้นิติบุคคล) จำนวน 17,095
ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จากจำนวน 14,610 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
สำหรับไตรมาส 3/2549 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3,688 ล้านบาท ลดลง 483 ล้านบาท จาก 4,171 ล้านบาทในไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการปรับลดราคาขายหนี้ที่มีหลักประกันเป็นการจำนำเครื่องจักรให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจำนวน 714 ล้านบาท สำหรับกำไรจากการ
ดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากเงินลงทุน ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ขาดทุนจากการขายลูกหนี้ และภาษีเงินได้นิติบุคคล) มีจำนวน 6,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จาก 5,571 ล้านบาทในไตรมาสก่อน
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า
"ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2549 อยู่ในระดับที่ดี สินเชื่อสุทธิยังคงเติบโตดีที่ 8.3% หรือ 50,000 ล้านบาทจากสิ้นปี 2548 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 3.46% ทำให้รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่ม
ขึ้นถึง 8.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPLs ของธนาคารในไตรมาสนี้ลดลง 1,354 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน คงเหลือจำนวน 58,425 ล้านบาท หรือ 8.9% เป็นผลจากการปรับโครง สร้างหนี้ และการตัดหนี้สูญ"
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ได้กล่าวเสริมว่า
"ผลการดำเนินงานโดยรวมของธนาคารเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ โดยธนาคารยังคงมีเป้าหมายเน้นการเติบโตด้านสินทรัพย์ควบคู่ไปกับคุณภาพสินทรัพย์และบริการ และในระยะต่อไป การขยายธุรกิจจากการทำงานร่วมกันของบริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์จะปรากฎผลชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ"
รายการทางการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสสามของปี 2549
คำอธิบายและวิเคราะห์งบการเงิน
สำหรับไตรมาสสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549
ผลประกอบการไตรมาสสามประจำปี 2549 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มีกำไรสุทธิจำนวน 3,688 ล้านบาท ลดลง 483 ล้านบาท (หรือร้อยละ 11.6) จากจำนวน 4,171 ล้านบาทในไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกขาดทุนจากการปรับราคาขายหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นและภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้น และลดลงร้อยละ 30.1 จากจำนวน 5,272 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 3/2548) ซึ่งไม่มีรายจ่ายภาษี
ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากเงินลงทุน ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ขาดทุนจากการขายลูกหนี้ และภาษีเงินได้นิติบุคคล) จำนวน 6,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 563 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.1 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1,032 ล้านบาทหรือร้อยละ 20.2 จากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 3/2548)
งบกำไรขาดทุน สำหรับไตรมาสสามของปี 2549
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสนี้ (ไตรมาส 3/2549) จำนวน 7,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2/2549) ร้อยละ 8.7 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 3/2548)
รายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 10,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 940 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อและการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร สำหรับรายได้ดอกเบี้ยระหว่างธนาคารมีจำนวน 1,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 464 ล้านบาทจากสภาพคล่องของธนาคารที่สูงขึ้น ส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับจากเงินลงทุนมีจำนวน 1,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 404 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากเงินปันผลรับจากกองทุนรวมวายุภักษ์จำนวน 374 ล้านบาท และเงินปันผลจากหุ้นทุนอื่นๆ
ดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารในไตรมาสนี้มีจำนวน 5,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,178 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.2 จากไตรมาสที่ผ่านมา จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารและฐานเงินฝากที่สูงขึ้นมาก ส่วนดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 66 ล้านบาท เนื่องจากการออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Notes) จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2
รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.37 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 3.46 ในไตรมาสนี้ และลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.49 ในไตรมาส 3/2548 สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2549 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับร้อยละ 3.49
2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่มาจากการดำเนินงานของธนาคาร (ไม่รวมกำไรจากเงินลงทุน) ในไตรมาส 3/2549 จำนวน 3,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมีจำนวน 2,620 ล้านบาท ลดลง 220 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 ส่วนใหญ่จาการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อ
- กำไรจากการปริวรรตลดลงจากไตรมาสก่อน 261 ล้านบาท จากปริมาณธุรกรรมที่ลดลง
- ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมของธนาคารมีจำนวน 562 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งมีผลขาดทุน 138 ล้านบาท จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทย่อย (บมจ.ไทยพาณิชย์ลิสซิ่ง) ในไตรมาสก่อน
- รายได้อื่นมีจำนวน 143 ล้านบาท ลดลง 52 ล้านบาท
ในไตรมาสนี้ ธนาคารมีกำไรจากเงินลงทุนจำนวน 158 ล้านบาท เทียบกับขาดทุน 93 ล้านบาทในไตรมาสก่อน จากกำไรจากการขายตราสารหนี้ และกำไรจากการขายเงินลงทุนบางประเภท ในขณะที่ไตรมาสก่อนธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
โดยรวมแล้วไตรมาสนี้ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทั้งสิ้น 3,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 419 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารลดลง 148 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7
3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้ มีจำนวน 5,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 234 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับ 5,160 ล้านบาทในไตรมาสก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น 58 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวน 194 ล้านบาทหรือร้อยละ 16.3 ตามการขยายเครือข่ายและระบบงานของธนาคาร
- ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท
- ค่าตอบแทนกรรมการในไตรมาสนี้ลดลง 42 ล้านบาท
ในไตรมาสนี้ธนาคารมีผลขาดทุนจากการปรับราคาขายหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) จำนวน 714 ล้านบาท เนื่องจาก บสท.ได้ปรับลดราคาซื้อหนี้ที่มีหลักประกันประเภทเครื่องจักรเป็นศูนย์
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นรวม 311 ล้านบาทจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ 223 ล้านบาท ค่าภาษีอากร 127 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมและบริการ 54 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานลดลง 62 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น 28 ล้านบาท
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานของธนาคารลดลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 48.1 เป็นร้อยละ 46.8 ในไตรมาสนี้ และลดลงจากร้อยละ 49.9 ในไตรมาส 3/2548 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น (ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย) มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
ในไตรมาสนี้ ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 450 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเป็นการทั่วไป (General Reserve) สำรองที่สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ (Economic cycle) และการขยายตัวของสินเชื่อ
งบดุล ณ วันที่ 30 กันยายน 2549
1. สินเชื่อและเงินฝาก
ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ธนาคารมียอดสินเชื่อจำนวน 653,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,014 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 จากยอดสินเชื่อ 603,812 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 โดยมีการตัดหนี้สูญใน 9 เดือนแรกปี 2549 จำนวน 4,830 ล้านบาท
สินเชื่อทั่วไปของธนาคารเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสุทธิ 56,674 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 ขณะที่สินเชื่อในกลุ่มจัดการทรัพย์สิน ลดลง 6,659 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 จากสิ้นปี 2548
สินเชื่อทั่วไปของธนาคารยังขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ (Business Banking) ขยายตัวต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นถึง 23,134 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.8 จากสิ้นปี 2548 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) เพิ่มขึ้น 17,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 7.4 ส่วนสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 16,540 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.4
เงินฝากของธนาคาร ณ 30 กันยายน 2549 มีจำนวน 805,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182,619 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.3 จากจำนวน 622,431 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.1 และเงินฝากจ่ายคืนเมื่อทวงถามเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ในขณะที่เงินฝากประเภทออมทรัพย์ลดลงร้อยละ 3.1 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้น 130,370 ล้านบาทหรือร้อยละ 19.3 เป็นผลจากการระดมเงินฝากของธนาคารในช่วงเดือนกรกฎาคม -สิงหาคมที่ผ่านมา ณ 30 กันยายน 2549 สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 81.2 และสัดส่วนเงินให้สินเชื่อ (หลังหักสำรอง) ต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 75.5 ลดลงจากร้อยละ 88.4 ณ สิ้นไตรมาสก่อน และลดลงจากร้อยละ 89.1 ณ สิ้นปี 2548
2. เงินลงทุนในหลักทรัพย์
เงินลงทุนในหลักทรัพย์มีจำนวน 109,162 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.9 จากสิ้นปี 2548 โดยเงินลงทุนชั่วคราวสุทธิลดลง 2,087 ล้านบาท และเงินลงทุนระยะยาวสุทธิลดลง 5,398 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนในบริษัทย่อย/ร่วมเพิ่มขึ้น 4,281 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 จากการลงทุนในบริษัท ไทยพาณิชย์ ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสที่ผ่านมา
3. เงินกู้ยืม
เงินกู้ยืมมีจำนวน 36,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,407 ล้านบาทหรือร้อยละ 30.4 จากสิ้นปี 2548 โดยเงินกู้ยืมระยะสั้นลดลง 4,357 ล้านบาท ตามปริมาณธุรกิจที่ลดลง และเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้น 12,764 ล้านบาทจากการออกตั๋วเงินอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRN) จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
4. ส่วนของผู้ถือหุ้น
ส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคาร ณ 30 กันยายน 2549 มีจำนวน 98,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2548 จำนวน 618 ล้านบาท จากกำไรในงวด 9 เดือนของปี 2549 จำนวน 12,082 ล้านบาทสุทธิกับการจ่ายเงินปันผลตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 183 จำนวน 10,198 ล้านบาท และส่วนเกินทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์ลดลง 1,235 ล้านบาทตามสภาวะตลาด
มูลค่าตามบัญชีของธนาคาร ณ 30 กันยายน 2549 คิดเป็น 28.92 บาทต่อหุ้น (จำนวนหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ ณ 30 กันยายน 2549 เท่ากับ 3,399 ล้านหุ้น) เพิ่มขึ้นจาก 27.82 บาทต่อหุ้น ณ 30 มิถุนายน 2549
เงินกองทุนตามกฎหมาย
เงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) ณ 30 กันยายน 2549 มีจำนวน 100,074 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.2 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 78,916 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.0 (รวมการจัดสรรกำไร จำนวน 5,036 ล้านบาทจากกำไรในงวดครึ่งปีแรกของปี 2549 เข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1)
สินเชื่อด้อยคุณภาพ
ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ซึ่งประกอบด้วยเงินให้สินเชื่อจัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมา ณ 30 กันยายน 2549 จำนวน 58,425 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 ต่อสินเชื่อรวมของธนาคาร เทียบกับจำนวน 57,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3 ณ สิ้นปี 2548 และจำนวน 59,779 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 ต่อสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ ไตรมาสที่ 2
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 มีจำนวน 45,975 ล้านบาท ลดลง 3,700 ล้านบาท จาก 49,675 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตัดหนี้สูญและการขายหนี้ด้อยคุณภาพ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารตั้งสำรองเพิ่มเติมจำนวน 1,050 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ร้อยละ 78.7 ณ 30 กันยายน 2549 ลดลงจากร้อยละ 87.0 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา
หมายเหตุ: สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) หมายถึง สินเชื่อจัดชั้นตั้งแต่ชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมา รวมเงินให้สินเชื่อสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและ
สินทรัพย์อื่น
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
9 ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
สายนักลงทุนสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2544 4222
Email: [email protected]
Website: www.scb.co.th