ภายในงาน ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา เรื่อง "นโยบายรับมือสังคมผู้สูงอายุ...ผลกระทบเศรษฐกิจไทย" โดยกล่าวว่า "ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) มาตั้งแต่ปี 2548 สะท้อนจากสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2557 พบว่าผู้สูงอายุมีสัดส่วนถึงร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด อีกทั้ง ในปี 2568 คาดว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20นับเป็นการก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมนานัปการ ดังนี้ 1) ด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปัจจัยการผลิตด้านแรงงานของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2) ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ โดยผู้สูงอายุจะใช้จ่ายจากเงินออม ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมมีโอกาสชะลอตัวลงได้ 3) ด้านการคลังของภาครัฐ การที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยชรามากขึ้นอาจส่งผลต่อการจัดเก็บรายรับจากภาษีเงินได้ของภาครัฐ อีกทั้งภาครัฐต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเพิ่มสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลต่อฐานะการคลังได้ 4) ด้านการออมและการลงทุนในประเทศในระยะยาว ประเทศที่มีภาวะสังคมชราภาพมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะการออมที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกษียณ หรือ เลิกทำงานแล้วจะใช้จ่ายจากการออมสะสม ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม"
ดร.สมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากผลกระทบดังกล่าว ภาครัฐมิได้นิ่งนอนใจ ได้จัดทำนโยบายเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1) ด้านสาธารณสุข ในปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งมีการเปิดศูนย์บริการคนชรา เพื่อให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และนันทนาการ นอกจากนี้ มีการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้องผ่านการรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ 2) ด้านการจ้างงาน มีการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การทำงานในร้านหนังสือ เป็นต้น พร้อมทั้งมีการคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยผู้จ้างงานสามารถนำรายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 เท่า 3) ด้านการเงิน ส่งเสริมให้แรงงานทุกประเภทออมเงินไว้ใช้ยามชรา โดยข้าราชการมีระบบบำเหน็จ/บำนาญผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับแรงงานในระบบใช้สิทธิผ่านกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้สูงอายุและกองทุนประกันสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุยากจน โดยการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ซึ่งดำเนินการในที่ราชพัสดุ"
ด้าน นายจักรชัย บุญยะวัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ผู้จัดงาน กล่าวว่า "บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ภายใต้การดูแลและกำกับโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน นั่นคือ 1) สร้างความตระหนักในด้านการสร้างความมั่นคงให้แต่ละบุคคล ทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และการวางแผนการใช้เงินตามไลฟ์สไตล์ 2) หน้าที่ทาง Financial Literacy หรือการรู้เท่าทันทางการเงินของคนไทยให้ขยายวงกว้างมากขึ้น รู้จักออมและลงทุนเพื่อต่อยอดเงินออม และ 3) ให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อาทิ หุ้น,กองทุน, ตราสารหนี้, ประกัน, ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธกิจที่เราต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดงานนี้ขึ้น โดยเน้น 2 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มวัยทำงานตอนต้น – กลาง คือ กลุ่มอายุ 25 – 45 ปี หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญด้านการออม และกลุ่มวัยทำงานตอนกลาง – ปลาย อายุ 45 – 60 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มีความพร้อมเรื่องการเงินในระดับหนึ่งแล้ว โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสำคัญเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องเริ่มให้ข้อมูลเพื่อให้มีการรับมือหรือเตรียมพร้อมในแง่การลงทุนไว้ก่อน จากการคาดการณ์จากการจัดงานทั้ง 3 วัน จะมีคนเข้าร่วมงานหลายพันคนต่อวัน โดยจัดงานออกเป็น 3 โซนหลัก อาทิ 1) Wealthy Zone (เวลท์ธี้ โซน) ให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์การเงินจากหลากหลายสถาบัน 2) Healthy Zone (เฮลท์ธี้ โซน) สถาบันสุขภาพเพื่อเตรียมรับมือสำหรับในอนาคต และที่แตกต่างจากงานอื่นๆ คือ โซนที่ 3) Luxury Zone (ลักชัวรี่ โซน) การลงทุนและเก็บออมในสินค้าลักชัวรี่ ที่มีมูลค่าอาทิ รถหรู, ที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนท์ ฯลฯ"
"นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงิน ที่รวบรวมโปรโมชั่นไว้อย่างครบถ้วน รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาคำนวณการออมและลงทุน ที่จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในยามเกษียณอีกด้วย ซึ่งผลตอบรับที่ได้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการออมเพิ่มมากขึ้น และถือเป็นการนำร่องในการจัดงานปีต่อๆ ไปอีกด้วย" คุณจักรชัย กล่าว
สำหรับ "FUTURE WEALTH & LUXURY EXPO 2017" มหกรรมรวบรวมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2560 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นงานแรกที่ช่วยให้คนไทยหันมาตระหนักถึงเรื่องการลงทุนและการออม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ โดยผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็ประโยชน์ในการวางแผนการลงทุนอย่างชาญฉลาดได้ทาง www.moneychannel.co.th หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ Money Channel