นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความต้องการให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ได้รับการคุ้มครอง และมีสภาพการจ้าง การทำงานที่เป็นธรรม มีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม จึงมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้เหมาะสมกับรูปแบบการจ้างงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล กสร. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ขึ้น และได้จัดสัมมนาไตรภาคีรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. .. ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจะมีผลบังคับใช้ในสิ้นปีนี้
อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่ ครม.เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องการเพิ่มเติมสิทธิของลูกจ้างเพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากนายจ้าง สร้างความเป็นธรรมให้กับลูกจ้าง ซึ่งมีเนื้อหาสาระเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใน 6 ประเด็น ดังนี้
1. กำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว จากเดิมซึ่งใช้อัตราร้อยละ 7.5 ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นร้อยละ 15 ต่อปี 2. กรณีเปลี่ยนตัวนายจ้าง จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง ให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่นายจ้างเดิมมีต่อลูกจ้าง 3. ให้สิทธิลากิจ ไม่น้อยกว่า 3 วัน ต่อปี และได้รับค่าจ้าง (เดิมไม่มี) 4. ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อคลอดบุตร 90 วัน เดิมลาเฉพาะหลังคลอดบุตร 90 วันเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาเท่าเดิม 90 วัน โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้าง 45 วันจากสำนักงานประกันสังคม และ 45 วันจากนายจ้าง รวมได้ค่าจ้างครบ 90 วันเต็ม 5. กรณีลูกจ้างทำงานครบ 20 ปี หากถูกเลิกจ้างแบบไม่มีความผิด มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน กฎหมายเดิมกำหนดทำงานครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน และ 6. กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วลูกจ้างได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพตามปกติ ลูกจ้างมีสิทธิขอรับค่าชดเชยพิเศษ โดยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เพื่อวินิจฉัยว่าการย้ายสถานประกอบกิจการมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีพตามปกติของลูกจ้างหรือไม่ หากคณะกรรมการฯ ลงมติว่ามีผลกระทบต่อลูกจ้างจริง จะได้รับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมาย ที่เน้นตามอายุการทำงานเป็นหลัก อัตราค่าชดเชยพิเศษเหมือนกับการได้สิทธิกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างแบบไม่มีความผิด ทั้งนี้หากลูกจ้างบอกเลิกสัญญาก็ไม่มีสิทธิรับเงินค่าชดเชยพิเศษ สำหรับค่าชดเชยพิเศษที่จะได้รับตามมาตรา 118 มีดังนี้ ลูกจ้างทำงาน 120 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่า อัตราค่าจ้าง 30 วัน , ทำงาน 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 90 วัน, ทำงาน 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชย 180 วัน, ทำงาน เกิน 10 ปีขึ้นไปได้รับเงินชดเชย 300 วัน, ทำงานเกิน 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับชดเชย 400 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม) เทียบเท่ากับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดนั่นเอง.