รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้จัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การผลักดันแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ระยะ 15 ปี (RMUTP Retreat) ระหว่างวันที่ 1- 2กันยายน 2560 ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การบรรยายพิเศษเรื่อง "การบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ 20 ปี" โดยดร.ดวงใจ ตันโช ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ เรื่อง "ข้อจำกัดของการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยรัฐสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" โดยดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง "การพัฒนาศักยภาพคนในแผนยุทธศาสตร์ 20 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12" โดยดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐฏิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายผู้บริหารองค์กรเอกชน เรื่อง Target Market and Need of Customer Thailand 4.0 รวมทั้งความต้องการใช้บัณฑิตในยุคประเทศไทย 4.0 โดยคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมทั้งการแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีจาก 9 คณะของมหาวิทยาลัยด้วย
รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้วางเป้าหมายความสำเร็จในการพัฒนาแผน กลยุทธ์ทุกระยะ 5 ปี และเพื่อเป็นการปรับปรุง ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยพ.ศ. 2560 - 2564 ก้าวสู่เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พ.ศ. 2565 - 2569 ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีระดับประเทศ พ.ศ. 2570 -2574 ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีระดับอาเซียน ซึ่งได้วางแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 15 ปี ระหว่างพ.ศ. 2560 – 2574 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัยและพัฒนา ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการให้บริการวิชาการและพัฒนาอาชีพอย่างมีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล
"ส่วนยุทธศาสตร์ด้านมหาวิทยาลัยดิจิทัล มีองค์ประกอบ 6 มิติ ได้แก่ ระบบนิเวศดิจิทัลงานวิจัย ด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อการศึกษา ด้านการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ด้านการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้แบบดิจิทัล ด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล และด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสามารถสรนับสนุนการสร้างสังคมดิจิทัลที่ประกอบด้วยผลผลิต 4 ด้าน คือ Digital Workforce, Digital Content, Digital Learning และ Digital Entrepreneur ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นผู้นำในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล"รศ.สุภัทรกล่าว
ผศ.สหรัตน์ วงษ์ศรีษะ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและกายภาพ กล่าวว่า การพัฒนามหาวิทยาลัยจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด จำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้บุคลากร ทั้งคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ องค์กรมหาชน ชุมชน และบริษัทเอกชน เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่และเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม หากมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาอาจารย์ให้มีความเชี่ยวชาญตามสายวิชาชีพมากขึ้น เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่พัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้นและมีการพัฒนาเครือข่ายมากขึ้น จะมีองค์ความรู้และนวัตกรรมจากการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นระบบ
"ส่วนระบบการพัฒนาเชิงวิชาการนั้น นอกจากการตีพิมพ์ผลงานหรือบทความในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่สามารถนำงานวิจัยไปสู่การจดสิทธิบัตร การใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตร หรือนำผลงานถ่ายทอดความรู้ใหม่สำหรับการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาสามารถทำงานร่วมกับองค์ที่มีการพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและระบบบริการ หากประสบผลสำเร็จแล้วจะเป็นงานวิจัยที่นำไปพัฒนา New Business Model, New Products Formula และ New Manufacturing Process ต่อไป"รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและกายภาพกล่าว