บมจ.ทีโอที และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เริ่มโครงการ "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล ด้วยการติดตั้งเครื่อง Automated External Defibrillator : AED ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดภาวะฉุกเฉินนอกสถานพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีประชาชนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สำหรับ "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" ทีโอที และ สพฉ.ได้พัฒนาโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีด้วยการติดตั้งเครื่อง AED ซึ่งจะเป็นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน CPR เป็นวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
กระทันหันได้เป็นอย่างดี ซึ่งการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดีจะต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือAED โดยจะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึงร้อยละ 45 ทั้งนี้ เครื่อง AED พร้อมอุปกรณ์การช่วยเหลือภายในตู้ สามารถปลดล็อกโดยการกดรหัสผ่านหรือปลดผ่านจากศูนย์ควบคุม ภายใน 30 วินาที มีกล้องวงจรปิดเพื่อดูการเคลื่อนไหวภายในตู้และรอบๆภายนอกตลอดเวลา สำหรับภายใน "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" จะมีอุปกรณ์เบื้องต้นในการช่วยเหลือ อาทิ First aid ชุด PPE และชุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และมีจอทีวีแจ้งขั้นตอนการช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงเพื่อให้ประชาชนผู้ประสบเหตุสามารถแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็วและใช้งานง่าย เพียงกดปุ่มEmergencyปุ่มเดียว สัญญาณไฟฉุกเฉินบนตู้จะหมุน พร้อมส่งข้อความ SMS ไปยังศูนย์ช่วยเหลือ โดยระบบจะระบุตำแหน่งและที่ตั้งสถานที่ทันทีมายังศูนย์ช่วยเหลือทันที เพื่อติดต่อกลับไปที่จุดแจ้งเหตุ นอกจาก "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" นี้ยังมีหมายเลขฉุกเฉิน สำหรับการขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินด้านต่างๆ ได้แก่ ปุ่มน้ำเงิน 1669 สายด่วนช่วยชีพ / ปุ่มน้ำตาล 191 เหตุด่วนเหตุร้าย / ปุ่มแดง 199 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ / ปุ่มเขียว 1155 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กทม. และ ปุ่มฟ้า ศูนย์ช่วยเหลือโครงการ
นายสมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บมจ.ทีโอที กล่าวว่า โครงการ "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล โดยในส่วนของ ทีโอที ได้มีส่วนร่วมในการนำโทรศัพท์สาธารณะที่มีให้บริการในที่สาธารณะมาสร้างประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ประสบอุบัติเหตุในที่สาธารณะในครั้งนี้ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเรียนรู้การช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นที่ถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ ทีโอที ได้พัฒนา application "AED Thailand" เพื่อประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการ AED
และเพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนในการค้นหาตำแหน่งติดตั้ง AED ได้อย่างรวดเร็ว โดย application "AED Thailand" เป็นเครื่องมือในการการบริหารจัดการ AED และการกู้ชีพฉุกเฉิน สามารถบันทึกรายละเอียด AED ประกอบด้วย สถานที่ติดตั้ง ยี่ห้อ รุ่น วันเดือนปี ที่ติดตั้ง ผู้รับผิดชอบ เบอร์ติดต่อ สถานะเครื่อง พร้อมประวัติการใช้งานและการบำรุงรักษา ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดApplication "AED Thailand" เพื่อค้นหาตำแหน่งติดตั้ง AED หรือศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ทีโอที มีแผนที่จะติดตั้ง "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" จำนวน 50 จุด ในกรุงเทพมหานคร ในปี 2561 อาทิ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า บริเวณรถไฟฟ้าBTS บริเวณศูนย์ประชุม บริเวณสวนสาธารณะ บริเวณสนามกีฬา และบริเวณท่าเรือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก