นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลส้มเขียวหวานในจังหวัดสุโขทัย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด ปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด เพื่อนำไปพิจารณาจัดทำบัญชีสมดุลระดับจังหวัด ปี 2560
จากการสำรวจพบว่า เกษตรกรในจังหวัดสุโขทัยมีการขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ในพื้นที่ ต.แม่สิน และ ต.แม่สำ อ.ศรีสัชนาลัย เนื่องจากส้มสายน้ำผึ้งนั้นมีราคาสูง ส่งผลให้ส้มสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นสินค้าทดแทนราคาสูงตามไปด้วย อีกทั้งเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตยั่งยืนสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ โดยผลผลิตบางส่วนเข้าสู่โรงงานแปรรูปน้ำผลไม้
ภาพรวมการผลิตส้มเขียวหวานปี 2560 จังหวัดสุโขทัยมีเนื้อที่ปลูก 29,000 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 26,800 ไร่ ผลผลิตรวม 93,800 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 กก.ต่อไร่ มีแหล่งปลูกส้มเขียวหวานเพียงแหล่งเดียว คือ อ.ศรีสัชนาลัย โดยร้อยละ80 อยู่ใน ต.แม่สิน และ ร้อยละ 20 อยู่ใน ต.แม่สำ ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยของต้นส้มเขียวหวานที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี มีผลผลิตเฉลี่ย 3.5 ตันต่อไร่ ส่วนต้นส้มเขียวหวานที่มีอายุระหว่าง 11 -20 ปี มีผลผลิตเฉลี่ย 7 ตันต่อไร่
ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่แบ่งเนื้อที่ปลูกส้มเขียวหวานประมาณ 20 ไร่ต่อครัวเรือน จากพื้นที่ถือครอง 50 - 60 ไร่ต่อครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของเนื้อที่ถือครองทั้งหมด ถือได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกส้มเขียวหวานเป็นอาชีพหลักและแบ่งพื้นที่ไว้ทำนาเพื่อบริโภค เกษตรกรทุกรายจำหน่ายผลผลิตให้แก่จุดรับซื้อ โดยร้อยละ 70 เป็นจุดรับซื้อของคนในพื้นที่ อีกร้อยละ 30 เป็นจุดรับซื้อของคนนอกพื้นที่ จำนวนจุดรับซื้อส้มเขียวหวานของ อ.ศรีสัชนาลัย มีประมาณ 65 จุด
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่จังหวัดผลิตได้จำนวน 93,800 ตัน มีการนำเข้าจากต่างจังหวัดผ่านพ่อค้ารวบรวมระดับต่างๆ ประมาณ 30,530 ตัน (ร้อยละ 32.54 ของผลผลิตที่จังหวัดผลิตได้) ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 124,330 ตัน แบ่งเป็นความต้องการใช้ในจังหวัดประมาณ 12,434 ตัน (ร้อยละ 10) ส่งออกไปต่างจังหวัด 87,030 ตัน (ร้อยละ 70) และส่งออกตลาดต่างประเทศประมาณ 24,866 ตัน (ร้อยละ 20) โดยผ่านตัวแทนส่งออก
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงผลิตตามความเคยชิน และต้องการความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเกษตรกรยังเห็นว่าการปรับเปลี่ยนการปลูกส้มเขียวหวานแบบทั่วไปเป็นส้มเขียวหวาน GAP จะช่วยเพิ่มปริมาณความต้องการของตลาดให้มากขึ้นตามไปด้วย