สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAM มีปัจจัยในการพิจารณามาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจาก BAM มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท BAM ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผ่านสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ เช่น การให้ตราสารหนี้ของบริษัทสามารถนับเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้และการได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนความสามารถในการระดมเงินกู้ยืมและผลการดำเนินงานของบริษัท BAM มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบสถาบันการเงินไทยในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ BAM มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีกำไรสม่ำเสมอมาอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบนั้นสะท้อนถึงแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฟิทช์เชื่อว่าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มที่จะแล้วเสร็จมากขึ้นในระยะปานกลาง เนื่องจากกระบวนการในการเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนของ BAM ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ารายละเอียดของแผนการดังกล่าวและระยะเวลายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวสะท้อนว่าภาครัฐไม่ได้มอง BAM ในฐานะองค์กรหลักของรัฐในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ BAM อาจจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์อีกต่อไปหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของ BAM ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัท
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้ถือหุ้นน่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ BAM โดยระดับของการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของบริษัทกับภาครัฐและสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในอนาคต การลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงไปต่ำกว่า 50% และการยกเลิกสิทธิประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดอับดับลงหลายอันดับ และปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับระดับหนี้สินและฐานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทในอนาคตด้วย
การยกเลิกแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM และสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาครัฐจะยังคงให้การสนับสนุนในระยะยาว โดยการคงสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ไว้ในระดับเดิม รวมทั้งการคงผลประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อบริษัท อาจส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตถูกปรับเป็นมีเสถียรภาพและมีการทบทวนอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวใหม่
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้
รายละเอียดทั้งหมดของอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้:
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ให้อันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)'