นายศาศวัต วีระปรีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เผยผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2560 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย ว่า สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 40,843 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่งและสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน 18,722 ล้านบาท เติบโต 6.55% ในขณะสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตประมาณ 4.5% ส่วนสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) ของบริษัทมียอดรวม 22,122ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) รวม 92,993 ล้าน บาท เพิ่มขึ้น 4.08% ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.50% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1.54% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรในครึ่งปีแรก2560 อยู่ที่ 576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.8% เมื่อเทียบกับกำไรในครึ่งปีแรก 2559
สำหรับภาพรวมสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 คาดว่าจะรักษาการเติบโตในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดขายรถใหม่ที่ดีกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งทำให้คาดว่าสินเชื่อสุทธิในปี 2560 นี้ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% เทียบประมาณการเดิมที่ 3% และสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 1% ในช่วง 2 ปีก่อนหน้า
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คุณภาพหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อฯ ยังเป็นประเด็นน่าติดตาม เนื่องจากในไตรมาส 2/2560 ที่ผ่านมา NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อฯ ของระบบธนาคารพาณิชย์ขยับสูงขึ้นมาที่ 1.66% เทียบกับ1.63% ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 อีกทั้งสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special-Mentioned Loans) ยังมีทิศทางที่ขยับขึ้นต่อเช่นกัน อันบ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ที่ยังปรากฏอยู่ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ เช่น หนี้ครัวเรือน ที่ยังกดดันอำนาจซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อฯ
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศรวมครึ่งปีแรกปี 2560 อยู่ที่ 409,950 คัน หรือขยายตัว 10.7% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดรถยนต์มีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์ที่ทยอยเปิดตัวออกมาใหม่หลายรุ่น ซึ่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่นั้นยังคงมีอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อผนวกกับทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ในกลุ่มการท่องเที่ยวและการส่งออก และส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนรถยนต์หลังรถในโครงการรถคันแรกจำนวนหนึ่งสามารถนำออกมาขายตลาดได้แล้ว สำหรับยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยมียอดขายประมาณ 410,000-430,000 คัน หรือขยายตัว 2-7% จากปีที่แล้ว ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งปี 2560 จะอยู่ที่ 820,000- 840,000 คัน ขยายตัว6-9% จากในปีที่แล้ว ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้รับปัจจัยบวกต่างๆ ทั้งการเติบโตของจีดีพี มาตรการกระตุ้นการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน แม้ว่าจะปรับวิธีการคิดอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ แต่ค่ายรถส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะยังไม่ปรับขึ้นราคาขายในปีนี้เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ให้ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี รวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายจากค่ายรถยนต์ เช่น การปรับรูปแบบวิธีการให้ของแถมอื่นๆ และการให้ทางเลือกในการรับประกันรถยนต์
ด้านตลาดรถมือสองในปี 2560 นี้ คาดว่าอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการทยอยเปิดตัวรถยนต์ใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง ขณะที่รถกระบะปิกอัพอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากมีการแข่งขันจากรถรุ่นใหม่ที่ออกมาทำตลาดน้อย ส่วนผลจากรถยนต์ในโครงการรถคันแรกที่ทยอยเข้าสู่ตลาดมือสองอาจทำให้การตั้งราคารถยนต์ไม่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก
นายศาศวัต กล่าวในตอนท้ายว่า ตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2560 มีโอกาสเติบโตขึ้น โดยประเภทรถที่คาดว่าจะยังดีต่อเนื่อง คือ รถยนต์นั่งในเกือบทุกเซกเมนต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (อีโคคาร์ และ B-Segment) รวมไปถึงรถครอบครัวแบบ MPV และรถยนต์หรู ซึ่งในปีนี้มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคหลายรุ่น ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ คาดว่า กลุ่มที่จะยังดีน่าจะเป็นรถกระบะ 4 ประตู เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้ซื้อมีระดับรายได้ค่อนข้างดี และรถบรรทุกขนาดบรรทุกไม่เกิน 10 ตัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการมีการปรับตัวดีขึ้น และภาคการขนส่งมีการขยายตัวดีขึ้นด้วย จากการเติบโตขึ้นของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ขณะที่ประเภทรถที่คาดว่าจะต้องเผชิญความท้าทาย คือ รถอเนกประสงค์ประเภท PPV ซึ่งขยายตัวสูงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีฐานที่สูง นอกจากนี้ระดับราคารถที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต และการที่มีรถยนต์อเนกประสงค์หลายรุ่นออกมาให้เลือกมากขึ้นแม้จะมีขนาดเล็กลง (เช่น SUV) ทำให้ตลาดรถ PPV ชะลอตัวลง