รศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นที่แรกของประเทศไทยมีประวัติอันยาวนานกว่า 104 ปี ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 12 นั้น ผมมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สถาบันของเราได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เป็นสถาบันที่ผลิตวิศวกรที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญระดับโลกด้วยองค์ความรู้และทักษะปฏิบัติ เพราะเรามุ่งมั่นในการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์แนวใหม่ที่อยู่ภายใต้ต้นแบบที่เรียกว่า วิศวศึกษา 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ด้วยวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมการพัฒนาให้นักศึกษาให้มีความรู้และทักษะสำคัญทั้ง 4 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะส่วนบุคคล การทำงานเป็นทีม และความคิดในการออกแบบ เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคมโลก เมื่อนักศึกษาจบไปแล้ว สามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ดังนั้น ในวาระครบรอบ 12 ปีนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะประกาศทิศทางการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยนโยบายการบริหารแบบใหม่ เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นการเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับการประยุกต์ใช้งานจริง พร้อมทั้งการบูรณการกิจกรรมเสริมหลักสูตร การแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติ การฝึกงานของนักศึกษาในหน่วยงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อฝึกอบรมและเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ด้วยเครื่องมือทันสมัยและสามารถต่อยอดไปสู่การออกแบบเชิงนวัตกรรม นอกจากนี้ เราร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าว
ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหลักสูตรฯ และรองผู้อำนวยการฯ เปิดเผยว่า ความมุ่งมั่นของเราคือ "ผลิตวิศวกรคุณภาพระดับโลกเพื่อสร้างสรรค์สังคมนวัตกรรมใหม่" ให้สมกับที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความเป็นเลิศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาหลักสูตร การบริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่โดดเด่น อาทิ ห้องเรียน Active Learning ห้องสมุดที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการหน่วยงานวิจัย และ i-Design Workspace คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 12 ภาควิชา มีนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 4,000 คนจากทั่วประเทศ และ นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกอีกกว่า 2,000 คน มีคณาจารย์เชี่ยวชาญกว่า 300 คนซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก
"ปัจจุบัน เรากำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่ เช่น หลักสูตรปริญญาตรี การพัฒนาหลักสูตร Individual Major Program ที่นักศึกษาเลือกเรียนในกลุ่มวิชาที่สนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่พัฒนาหลักสูตรนี้ คาดว่าจะได้ใช้ภายในปีหน้าที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดในปีหน้า คือ Smart Urban เป็นหลักสูตรปริญญาโท เปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ต้องเข้ามาเรียน full time เหมือนนักศึกษา เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานแล้วสามารถเข้ามาเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตแล้วนำมาทำเครดิตเพื่อขอจบปริญญาโทได้ หลักสูตรนี้มีลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา เป็นหลักสูตรที่ถูกออแบบมาให้ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของปัจจุบัน ตอนนี้หลักสูตรการอนุมัติแล้วและเตรียมเปิดในปี 2561"
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (ปริญญาตรี) ของสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ International School of Engineering (ISE) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีลักษณะเป็นหลักสูตรสหวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรวิศวกรรมการออกแบบและผลิตยานยนต์ (Automotive Design and Manufacturing Engineering หรือ ADME) 2) หลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน Aerospace Engineering (AERO) 3) หลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Engineering หรือ ICE) และ 4) หลักสูตรวิศวกรรมนาโน (Nano Engineering หรือ NANO)
สำหรับปีการศึกษา 2561 ISE จะเปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาในทั้ง 4 หลักสูตร ทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน ในระหว่างวันที่ 2 – 31 ตุลาคม 2560 (รอบที่ 1) วันที่ 4 – 31 มกราคม 2561 และวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2561 โดยในปีนี้ผู้สมัครในรอบแรก สามารถสมัครขอรับทุนการศึกษาสำหรับผู้มีคุณสมบัติตามประกาศของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.ise.eng.chula.ac.th