นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า นครราชสีมาถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยศักยภาพ รอบด้าน โดยเฉพาะการเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมการค้าและการลงทุนของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากอันดับสองของประเทศ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการตั้ง "ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสุรนารี" หรือ TVET Hub Suranaree ที่นครราชสีมา จึงเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมคุณภาพประชากรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามแนวคิดการพัฒนาจังหวัดที่มุ่งสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เนื่องด้วยโครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะฝีมือและพื้นฐานด้านสะเต็มที่สอดรับอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต
ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในฐานะแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือระดับช่างเทคนิคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมาโดยตลอด และปัจจุบันก็กำลังเผชิญความท้าทายจากการรุกคืบเข้ามาของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงนำมาซึ่งการจัดตั้ง "ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสุรนารี" เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีภายใต้รูปแบบ "รัฐร่วมเอกชน" เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการผลิตและพัฒนาช่างเทคนิคด้าน ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยถือเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพแห่งแรกของภาคอีสาน และเป็นแห่งที่ 4 ของประเทศจากที่บริษัทมีเป้าหมายจะเปิดทั้งสิ้น 6 แห่ง
"จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งศูนย์ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ป้อนสู่ตลาดโลก รวมถึง เป็นฐานการผลิตและส่งออกให้กับผู้ผลิตระดับโลก ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางด้านอาชีวศึกษาของภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตช่างเทคนิคป้อนพื้นที่ต่างๆ มาโดยตลอด จึงคาดหวังว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายรัฐบาล" นางหทัยรัตน์ กล่าว
ด้าน รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสุรนารีจะบริหารงานภายใต้คณะกรรมการทั้งจากภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายสำคัญคือ พัฒนา "ครูอาชีวะและบุคลากรสายอาชีพ" ให้มีทักษะความรู้ที่ทันสมัย นำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนอาชีวะ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ ในภาคอีสานที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและเพิ่มทักษะให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อผลิตช่างเทคนิคได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ทุกระดับ ตั้งแต่เอสเอ็มอีจนถึงบริษัทข้ามชาติ
"ศูนย์ฯ แห่งนี้ ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 3 ส่วน ได้แก่ 1. ห้องปฏิบัติการฝึกทักษะขั้นพื้นฐาน เพื่อเติมองค์ ความรู้ด้านสะเต็มสำหรับอาชีวศึกษา 2. ห้องปฏิบัติการฝึกทักษะด้านแมนูแฟคเจอริ่ง เน้นการประยุกต์ ใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ อาทิ ตัดชิ้นงานด้วยเลเซอร์ การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การใช้เครื่องตัดกัดกลึงชิ้นงาน และ 3. ห้องปฏิบัติการฝึกทักษะด้านโรโบติก เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งจะนำองค์ความรู้มาใช้ร่วมกับระบบ ออโตเมชั่นเพื่อผลิตชิ้นงานจริง ทำให้เชื่อมั่นว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะช่วยพัฒนาและเติมเต็มทักษะที่จำเป็นให้กับครูอาชีวะและช่างเทคนิคได้อย่างครบถ้วน" รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้มีวิทยาลัยเทคนิคที่เข้าร่วมเครือข่ายแล้ว 5 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย วิทยาลัยเทคนิคพิมาย วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2560 จะขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 10 แห่ง