สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่, คณะวิจิตรศิลป์ และคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บุญถาวร เชียงใหม่ และบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดรายการ "ช่างมันส์" ทาง FM 106 วิทยุครอบครัวข่าว 3 ร่วมจัดกิจกรรม "รื้อฟื้นของดี วิถีพวกแต้ม" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2560 เวลา 16.00 - 20.00 น. ณ วัดพวกแต้ม ต.พระสิงห์
โครงการ การพัฒนาตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ "พวกแต้มคัวตอง" อาคารทางศาสนา และพื้นที่โดยรอบภายในของวัดพวกแต้ม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วมตอบสนองต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการการพัฒนาตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ "พวกแต้มคัวตอง" ที่มีการจัดกิจกรรมมาก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น 4 กิจกรรม อาทิ
กิจกรรม 1 : สืบซ่อม ฮอมแฮง แปงสร้าง
กิจกรรม 2 : คนแต้ม คัวตอง
กิจกรรม 3 : เตียวล่องกอง ผ่อของงาม
กิจกรรม 4 : ช่างฟ้อน กลองชุม
และกิจกรรม 5 : รื้อฟื้นของดี วิถีพวกแต้ม
ซึ่งกิจกรรมทั้ง 5 มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเน้นกระบวนการดำเนินงาoระหว่าง วัด บ้าน และชุมชน ร่วมถึงหน่วยงานจากทางภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางความคิดทางความช่วยเหลือ อันจะส่งผลไปสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรม และ มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมของเมืองเชียงใหม่ สู่เป้าหมายของการเป็นเมืองมรดกโลก
การจัดกิจกรรม "รื้อฟื้นของดี วิถีพวกแต้ม" ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีกิจกรรมทางด้านการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อการอนุรักษ์สืบสานชุมชนวัดพวกแต้ม และเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการดำเนินงานทางด้านการอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนพวกแต้ม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นและเกิดการตระหนักรู้ของภาคประชาชน ภาคเครือข่าย ในการพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม
และยังได้จัดให้มีงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางด้านการอนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนพวกแต้ม และ ของเมืองเชียงใหม่ การแสดงความคิดเห็นเป็นแนวทางในการได้มาซึ่งข้อมูล วิธีการ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน มองมุมมองทาง
ด้านการพัฒนาต่อยอดของชุมชนในอนาคต เพื่อให้ชุมชนพวกแต้มเป็นชุมชนตัวอย่างทางด้านการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเมือง ตลอดจนนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งในด้านด้านการท่องเที่ยว การพักอาศัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของโครงการ การพัฒนาตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ "พวกแต้มคัวตอง" อาคารทางศาสนา และพื้นที่โดยรอบภายในของวัดพวกแต้ม จังหวัดเชียงใหม่ และ เพื่อเมืองเชียงใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ภายในงานได้จัดโซนนิทรรศการเพื่อให้ความรู้มากมาย อาทิ
นิทรรศการ "สืบซ่อม ฮอมแฮง แปงสร้าง" นิทรรศการนี้จะแสดงถึงสถาปัตยกรรมหอไตรของวัดพวกแต้ม และ ลวดลายศิลปกรรมไม้ประกับคัมภีร์ พร้อมจารึกบนใบลาน รูปแบบศิลปกรรมหีบธรรมของวัดพวกแต้ม พร้อมทั้งวีดีโอสำหรับการอนุรักษ์ใบลาน และ หีบธรรม
นิทรรศการ "คนแต้ม คัวตอง" ภายในนิทรรศการจะรวบรวมรูปภาพเก่าของชุมชนวัดพวกแต้ม มาจัดทำเป็นอัลบัมรูปขนาดใหญ่ สามารถติดตั้งได้ภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้สนใจหรือคนในชุมชนสามารถมาดูรูปเก่าในอดีตได้
นิทรรศการ "เตียวล่องกอง ผ่อของงาม" จะมีการรวบรวมแผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนพวกแต้ม ที่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปภายในชุมชนพวกแต้ม ภายในนิทรรศการจะมีข้อมูลความรู้ในเรื่องของความเชื่อในชุมชน และ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม ของชุมชนพวกแต้มคัวตอง
นิทรรศการ "ช่างฟ้อน กลองชุม" การให้ความรู้ในเรื่องของการแต่งกายสำหรับช่างฟ้อน และ กลองชุมของชุมชนพวกแต้ม และ ความสำคัญในเรื่องของการแสดงว่ามีความสำคัญอย่างไร
โดยภายในงานได้จัดให้มีงานเปิดกิจกรรม "รื้อฟื้นของดี วิถีพวกแต้ม" ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พระครูปฏิภาณธรรมพิศิษฏ์ เจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม, รศ.ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร. ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ คณบดีคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายอาณัติ คลังวิเชียร ประธานชุมชนพวกแต้ม, นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม, ดร.พงศ์ธร ธาราไชย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และนายสรศักดิ์ คันธวงศ์ ผู้จัดการบริหารทั่วไป บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด ร่วมพิธีเปิดงานและร่วมงานเสวนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2560 ณ วัดพวกแต้ม ต.พระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พวกแต้มจะพัฒนาชุมชนต้นแบบ ในการรักษาคุณค่า ทางอาคารสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ เพื่อผลักดันเมืองเชียงใหม่ไปสู่เมืองมรดกโลก