บทความหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เด็กเรียนรู้ชีวิตชาวนา จากมูลนิธิสยามกัมมาจล

พุธ ๓๐ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๔๑

ปัญหาเด็ก เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กแว๊น ท้องก่อนวัยอันควร ยาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ ติดโทรศัพท์ มีนิสัยก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ยังเป็นปัญหาหนักอกที่ทุกภาคส่วนต้องการหาทางแก้ไข แต่ละพื้นที่ก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งที่อบต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี ได้ใช้โมเดล"โรงเรียนครอบครัว" เป็น "เครื่องมือ" ในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ให้เป็นเด็กที่มีคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักความกตัญญู นำร่องที่บ้านห้วยม้าลอยและขยายผลสู่ทุกหมู่บ้าน จนเกิดผลสำเร็จ ได้สร้างความผาสุกให้เกิดขึ้นกับครอบครัวและชุมชน

อบต.หนองสาหร่ายได้นำโมเดลโรงเรียนครอบครัวมาใช้ตั้งแต่ปี 2555 โดยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและทุกภาคส่วนในชุมชนจนเกิดกิจกรรมต่างๆ ที่นำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวและคนในชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมดำนาซึ่งเป็นไฮไลท์หลักที่ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 ในปี 2560 ได้จัดกิจกรรมดำนาตามรอยพ่อภายใต้ร่วมพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เด็กได้รู้รากเหง้าของตนเองและสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างคนสามวัย โดยกิจกรรมชาวชุมชนได้ให้ผู้ปกครอง ลูกหลานมาช่วยกันดำนาในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ โดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยสอนการปักดำให้แก่ลูกหลาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและสนุกสนานเพราะนอกจากกิจกรรมดำนาแล้วยังมีการแสดงวิถีชีวิตชาวนาของแต่ละประเทศ โดยมีชาวบ้าน ลูกหลานมาร่วมกันแสดงอีกด้วย เมื่อวันเสาร์ที่26 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

นายพรสันต์ อยู่เย็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่าโรงเรียนครอบครัวคือการทำกิจกรรมที่เด็กและผู้ปกครองจะร่วมกันทำ มีผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาร่วมสนับสนุน โดยให้เด็กเป็นคนคิดกิจกรรม เพราะเราอยากสอนให้เด็กมีความคิด และนำสิ่งที่เด็กคิดมาวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ที่เขาจะทำ ซึ่งกิจกรรมดำนาเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้งที่หมู่บ้านห้วยม้าลอย ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ใน 1 ปี จะเวียนจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง 10 หมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมดำนาที่บ้านห้วยม้าลอยสามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 6 ปี เพราะเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชนได้แก่ อบต.หนองสาหร่าย โรงเรียน รพ.สต. วัด ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนครอบครัว โรงเรียนบุตรเกษตรกร ประชาชนในหนองอียอทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน การเริ่มนำโมเดลโรงเรียนครอบครัวมาใช้นำร่องที่หมู่บ้านห้วยม้าลอย สืบเนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนเริ่มมองเห็นปัญหาเด็ก เยาวชน จึงคิดหาภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของตนเอง "มองเห็นปัญหาเด็กและเยาวชน หากไม่มีเกราะคุ้มกันตนเองไม่มีภูมิคุ้มกัน เขาจะหมดเวลาไปกันสิ่งแวดล้อมข้างนอกซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างที่จะแย่ ยาเสพติด การติดเกมส์ จะทำให้แก้ยาก วันนี้เราดึงเขามาอยู่กับเราให้ความอบอุ่นกับเขา พอเด็กมีความอบอุ่นเขาก็จะไม่ออกไปหาอะไรที่เป็นการท้าทายเขา หรือหากเขาออกไปสู่โลกภายนอก เขาก็สามารถพิจารณา สิ่งที่เขาไปพบไปเจอได้ เป็นการป้องกันเด็กของเราอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นการป้องกันไม่ใช่การแก้ไข การจัดกิจกรรม จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เด็ก เยาวชน ของเราเป็นเด็กที่ดีคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักความกตัญญ และถ้าเด็กไม่รู้รากเหง้าของตัวเอง จะทำให้เด็กเมื่อโตไปไม่รักแผ่นบ้านเกิด การพัฒนาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นก็จะไม่มี จะทำอย่างไรก็ได้ให้เขาสำนึกของบุญคุณแผ่นดิน รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่เป็นการต่อรุ่นต่อรุ่น"

ในส่วนของผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมาก นายกฯ บอกว่าก็ต้องเข้าไปคุยกับผู้ปกครองแต่ละบ้าน ในช่วงแรกๆ พวกเริ่มปีสองปีสามผู้ปกครองก็มาเข้าร่วมเอง "เพราะเริ่มเห็นเด็กแต่ละคนที่เข้าโครงการกับเราเป็นเด็กมีปัญหาทั้งนั้น ก้าวร้าวบ้าง ไม่สนใจในหน้าที่ของตนเอง ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กที่เข้ามาประสบผลสำเร็จดีขึ้น ก็เริ่มส่งลูกหลานเข้ามาร่วมกัน"

นายกฯ เล่าอย่างภาคภูมิใจว่าวันนี้มีตัวอย่างเยาวชนที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน หลังจากดำเนินโครงการมา 5-6 ปีแล้ว "เด็กที่เข้าร่วมโครงการทุกคนสามารถเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัยทุกคน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นน้องฝ้าย เป็นเด็กเก็บตัว พูดกับพ่อแม่ก็ก้าวร้าว การเรียนก็ไม่มีคุณภาพ พอเข้ามาอยู่ในโรงเรียนครอบครัว น้องฝ้ายก็เปลี่ยนแปลงนิสัย เป็นคนที่อ่อนน้อม พูดเพราะกับพ่อแม่ วันนี้เขาไปเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวก็มีความอบอุ่น ส่วนที่เป็นเด็กนอกระบบก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น เบียร์ ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องไฟ เป็นเด็กที่ครอบครัวมีปัญหาเป็นเด็กที่มีโอกาสเสียค่อนข้างเยอะ เมื่อเราดึงเขาเข้ามา เขาได้แนวความคิดจากโครงการไป ใหม่ๆ เขาก็ประกอบเครื่องไฟเล็กๆ ตอนนี้ธุรกิจใหญ่โตสามารถรับงานฝังลูกนิมิตหรืองานใหญ่ๆ ได้ จะบอกผู้ปกครองเสมอว่าคนที่ดูแลลูกของเราได้ที่สุดไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นครอบครัวนั่นเอง"นายกฯ กล่าวตบท้าย

ทางด้านเด็กนักเรียนจากรร.บ้านห้วยม้าลอย มาร่วมสะท้อนการเรียนรู้การดำนาโดยการถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม ได้แก่ ด.ญ.วรรณธิดา หอมไม่หาย(แพรว) อายุ 12 ปี ป.6 ,ด.ญ.ฐิติมน นาคะ (เค้ก) อายุ 11 ปี ป.5 ,ด.ญ.สันต์ฤทัย วงษ์สุวรรณ (น้ำฝน) อายุ 12 ปี ป.6 และด.ญ.อริยา หอมไม่หาย (อะ) อายุ 11 ปี ป.5 ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 2 ปีขึ้นไป "น้องแพรว" สะท้อนว่าได้เรียนรู้วิธีการทำนา ความเหนื่อยความยากของชาวนาว่าเป็นอย่างไร และรู้คุณค่าของควายว่าอดีตเคยใช้ควายไถนาปัจจุบันมาใช้รถไถ ได้เรียนรู้ความสามัคคีของนักเรียนและชุมชน ส่วนที่บ้านก็ทำนา คิดว่าอาชีพทำนา เหนื่อย ลำบาก ไม่อยากเป็นชาวนา ได้มาเรียนรู้ว่าชาวนาลำบากแค่ไหนต้องมาทนร้อนเพื่อปลูกข้าวให้เราได้กิน เมื่อเรากินข้าวต้องกินให้หมดทุกเม็ด

ส่วน "น้องเค้ก" บอกว่าเข้าร่วมกิจกรรมดำนาได้ฝึกนิสัยที่ดีให้แก่ตนเองได้แก่ความขยันและอดทน ขยันที่จะทำนาให้เสร็จ อดทนต่อแดดที่ร้อนและอยู่ในน้ำและปวดหลังด้วยและได้สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ความสามัคคีหมายถึงถ้าเราทำงานคนเดียวก็จะหนักกว่าที่เราจะได้แบ่งให้เพื่อนๆ ทำ ช่วยกันทำหนูว่าจะทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น อาชีพทำนาเหนื่อยและทำงานหนักมาก ถ้าไม่มีคนทำนาก็ไม่มีข้าวกิน" สำหรับ "น้ำฝน"บอกว่า "...ชอบกิจกรรมดำนาตอนปักต้นข้าวรู้สึกว่าสนุกดี แต่ก็ไม่อยากเป็นชาวนาเพราะว่าเหนื่อยมาก" สุดท้าย "น้องอะ" บอกว่า "สนุกได้ความรู้ ได้มาเจอเพื่อน สนุกได้เล่นดำในนา ได้เล่นกับเพื่อนๆ ได้ความรู้ในการดำนา ได้รู้วิถีชีวิตของชาวนา ได้ความรู้นำไปปรับใช้ เช่น เขาทำนารู้ว่าชาวนาเหนื่อยมากมีความขยันอดทน เราต้องทำให้ได้แบบชาวนาบ้างเป็นการฝึกนิสัยให้มีความอดทน การดำนาต้องมีความอดทน ขยัน เราต้องทำให้ได้ เราสามารถฝึกนิสัยสามารถทำได้เช่นการปลูกขมิ้น ทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ไม่ให้เหนื่อยด้วย ทำงานบ้านเป็นการฝึกนิสัยคนที่รักษาความสะอาด"สรุปแล้วเด็กๆ ทุกคนรู้คุณค่าของอาชีพชาวนาและนำสิ่งที่ได้ฝึกฝนจนเกิดนิสัยที่ดีให้แก่ตนเอง

นายมงคล จินตนประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านกรวด ได้พานักเรียนชั้น ป.5-6มาร่วมกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี เผยว่า "เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนแต่ละรุ่นมาร่วมกิจกรรมก็จะซึมซัมการดำนา ซึมซัมความรู้สึกความรู้ที่ได้จากการดำนา มีการเปลี่ยนแปลง บางคนเขาจะพูดออกมาเลยว่าโตไปเขาจะเป็นชาวนา เวลาให้เขียนเรียงความ เขารักอาชีพเกษตรกร อยากเป็นชาวนาเพื่อสืบสานอาชีพบรรพบุรุษ ในส่วนพฤติกรรมนิสัย ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กจะมีความอดทนในการทำงานและมีทักษะในการทำงานมากขึ้น"

สำหรับอบต.หนองสาหร่ายถือว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานท้องถิ่นที่ดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างเข้มข้นและมีความต่อเนื่องภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 1 : โรงเรียนครอบครัว เกิดขึ้นจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาพลเมืองที่ดี (Good active citizen) และมีจิตอาสาเพื่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศได้สนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาดำเนินโครงการ โดยเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ ครอบครัว วัด สถานศึกษา สถานีอนามัย แหล่งเรียนรู้ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับตำบลเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ในลักษณะ "เสริมพลัง (Synergy)" ที่เน้น "การมีส่วนร่วม" และเป็น "เจ้าของ" ชุมชนท้องถิ่น จากนั้นอบต.หนองสาหร่ายก็เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และล่าสุดเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : เวทีขับเคลื่อนกลไกในการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับหมู่บ้านและตำบล การเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องทำให้การพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชนจึงเกิดความเข้มแข็งและมีผลสัมฤทธิ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน อบต.หนองสาหร่ายจึงเป็นตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่ย่อท้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จนหาหนทางแก้ไขปัญหานั้นได้สำเร็จ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย