โดยจากข้อมูลของ The World Tourism Organization ระบุว่า ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลก 1.235 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2558 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.186 พันล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2559 มีมูลค่า 1,260 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4% จากปี 2558
@เอกชนไทยไม่รอช้าคว้าโอกาส
จะเห็นว่าประเทศเป้าหมายของกลุ่มนักท่องเที่ยว บางประเทศที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ค่อยสดใสนัก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเพิ่มมากขึ้น เช่น อังกฤษ ในปี 2559 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีการลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตเพียง 1.8% แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4% เช่นเดียวกับ อิตาลี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียง 0.9% แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวอิตาลีมากขึ้นถึง 3.2% เป็นต้น
โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ถือเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจ เป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาสสำหรับผู้ส่งออกอาหารไทยที่มุ่งจะเจาะตลาด เพื่อซัพพลายวัตถุดิบให้กับธุรกิจ HoReCa ในประเทศเหล่านั้น เพราะเมื่อการท่องเที่ยวบูม จะมีร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจบริการสำหรับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย
'เดวิด เลาชิไว' ประธานกลุ่มเครื่องปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่าปีนี้อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8% จากปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 แสนล้านบาท จากภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหาร 1 ล้านล้านบาท ปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวเติบโต หากนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ เช่น ภัตตาคาร โรงแรม ขนส่ง รถทัวร์ เครื่องบิน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญช่วยให้เกิดการจ้างงาน กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานมียอดขายดี รวมถึงอาหารพร้อมทานที่เสิร์ฟบนเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ ทุกไฟลท์เต็มหมด
เดวิด อธิบายว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี สินค้าอาหารสามารถขายได้ และมีปัจจัยเสี่ยงมีน้อย เพราะส่วนใหญ่จะพยายามใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก เพียงแต่ต้องมุ่งเน้นผลิตสินค้าอาหารที่ตรงกับความต้องการของตลาด ต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Food Safety) ให้ดีขึ้น และต้องพัฒนาใช้เครื่องจักรแทนคนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะต่อไปไทยจะไม่มีค่าแรงถูกอีกแล้ว ต้นทุนแพงกว่าเวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา และอินโดนีเซีย ทำให้แข่งขันลำบาก
ทางด้าน 'วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา' รองประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มผู้ผลิตผักและผลไม้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า บริษัทส่งออกไปต่างประเทศ 100% ตลาดเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป โดยสัดส่วน 80% เป็นการจำหน่ายให้กลุ่มธุรกิจกลุ่ม HoReCa ที่เหลือ 20% จำหน่ายในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และแม่บ้าน แต่แนวโน้มในอนาคตบริษัทต้องการปรับสัดส่วนตรงนี้เพิ่มขึ้นให้เป็น 50% โดยจะพยายามหาช่องทางเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหาร จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร มาตรฐาน กฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าอย่างใกล้ชิด หากผลิตได้ตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าแล้วเชื่อว่าการทำตลาดจะขยายตัวมากขึ้น ทั้งในกลุ่ม HoReCa หรือผู้บริโภค และกลุ่มอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ 'เจริญ เหล่าธรรมทัศน์' นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เฉลี่ยปี 2 ล้านตัน มีทั้งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ เพื่อไปจำหน่ายเป็นข้าวบรรจุถุงในห้างค้าปลีก และจำหน่ายให้ตัวแทนที่รับจัดซื้อวัตถุดิบธุรกิจให้ธุรกิจบริการอาหาร โรงแรม และภัตราคาร (HoReCa) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยได้รับความนิยมมากยังเป็นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก เพราะไทยมีมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย 92% และมีมาตรฐานข้าวหอมไทย
ปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมาคือการแข่งขันด้านราคากับข้าวหอมมะลิจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม กัมพูชา หรือเมียนมา เช่น ราคาข้าวไทยสูงขึ้นในช่วงที่มีโครงการรับจำนำราคาสูงทำให้แข่งขันกับข้าวจากคู่แข่งได้ลำบาก แต่หลังจากไม่มีโครงการก็ทำให้ราคาข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้
ปัญหาจากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนาม 2-3% เช่นบาทแข็งค่า 1 บาท ต้องปรับราคาส่งออกข้าวขึ้นอีก 8-9 เหรียญสหรัฐต่อตันทำให้แข่งขันลำบาก
นอกจากนี้ ผลจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมีผลทำให้ขาดแคลนแรงงานและทำให้การขนส่งข้าวล่าช้าไม่ทันตามกำหนด
@ส่งออกอาหารไทยเบอร์ 12 ของโลก
ด้าน 'มาลี โชคล้ำเลิศ' อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศอันดับ 1 ที่ส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน และอันดับที่ 12 ของประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมอาหารสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท
สินค้าอาหารของไทยหลายรายการที่มีมูลค่าการส่งออกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกในตลาดโลก อาทิ ข้าว ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องปรุงรส เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย และผู้ประกอบการในภาคการผลิตมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร
ในอนาคตรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมุ่งเน้นที่จะเชิญชวนบริษัทผู้ผลิตหรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และยังสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยในทุกระดับได้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่สร้างมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารระดับโลกด้วย
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333