"เรื่องการโทรป่วนกรณีนี้ ทางสพฉ. ได้มอบหมายให้คณะทำงานสอบสวนที่ได้ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงเชิญผู้ที่โทร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อไป หากพบว่ามีความผิดจริง ผู้ที่โทรป่วน จะมีความผิดตาม ตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 ผู้ใดใช้ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีที่จัดไว้สำหรับการปฏิบัติการฉุกเฉินโดยประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปฏิบัติการฉุกเฉิน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท นอกจากนี้อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายอาญาเป็นต้น" รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบการโทรป่วนสายด่วน 1669 ทั่วประเทศคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่เป็นการโทรเล่น โดยที่ไม่มีผู้ป่วยจริง ยกตัวอย่างที่ จังหวัดอุบลราชธานี มีการโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ 60 ครั้ง แต่พบว่ามีการโทรป่วนกว่า 20 ครั้งเลยทีเดียว ทั้งนี้ในการดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษนั้น สพฉ.จะเชิญทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล หากพบว่ามีความผิดจริงก็จะมีการเทียบปรับต่อไป
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.อยากรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการใช้สายด่วนฉุกเฉิน และจดจำหมายเลข 1669 ไว้ให้ดี เพราะถือเป็นสายด่วนช่วยชีวิต โดยข้อควรรู้ สำหรับประชาชนที่จะโทรแจ้งสายด่วน คือ 1.เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 // 2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด // 3.บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน // 4.บอกเพศ ช่วงอายุ อาการ จำนวน ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ // 5.บอกระดับความรู้สึกตัวของ ผู้ป่วย // 6.บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่น อยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส // 7.บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ // 8.ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ // 9.รอทีมกู้ชีพไปรับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล