จิตเวช ภาระโรคสำคัญ พบช่องว่างระบบและการเข้าถึงบริการต่ำ

อังคาร ๐๕ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๔:๒๑
ปัจจุบันปัญหาของกลุ่มโรคจากความผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น โรคจิตเภท ซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว รวมถึงการติดสุรา สารเสพติด นับเป็นปัญหาสำคัญและเรื้อรังในประเทศไทย

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดลำดับความสำคัญของโรคและการเจ็บป่วย รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณโดยเน้นหนักไปกับโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย อาทิ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หัวใจ อุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้โรคหรือพฤติกรรมที่ส่งผลต่อภาวะบกพร่องทางสุขภาพ โดยเฉพาะความพิการที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช รวมทั้งปัญหาการติดสุราและสารเสพติด มักได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบบริการและการพัฒนาบุคลากรน้อย ทั้งนี้ ข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2551 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน มีผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา ราว 5.3 ล้านคน แต่เข้ารับการบำบัดรักษาไม่ถึง 1.2 แสนคน สะท้อนได้ว่าการเข้าถึงบริการจิตเวชยังมีอยู่อย่างจำกัด สวรส. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาแนวทางในการออกแบบระบบบริการ และลดผลกระทบอื่นๆที่อาจตามมา

รศ.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบาดวิทยาประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของงานวิจัยดังกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 3,877 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตเทศบาลคูคตและลำสามแก้ว ปทุมธานี ระหว่าง มิ.ย.-ก.ย.58 โดยสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามด้วยเครื่องมือ "WHO-CIDI" เพื่อประเมินความผิดปกติทางจิตและประวัติการใช้บริการสุขภาพจิต และการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีเพียง 11.8% ของผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต เคยปรึกษาหรือรับบริการปัญหาสุขภาพจิตในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเพียง 2.9% ของผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยทางจิตในรอบปีผ่านมาเข้ารับคำปรึกษาฯ ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 1.8% ของผู้มีประวัติปัญหาการติดสุราและใช้สารเสพติด เคยเข้ารับคำปรึกษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และไม่เคยเข้ารับปรึกษาฯ ครั้งสุดท้ายภายใน 1 ปีที่ผ่านมาเลย หรือคิดเป็น 0%

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาการติดสุราและสารเสพติดในช่วงชีวิตและในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาเข้ารับบริการในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจมาจากการไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อนเลยหรือหยุดการรักษาไปนาน สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง จะมีประชากรเพียง 1 ใน 10 ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ที่รับบริการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยอุปสรรคในการเข้ารับบริการอาจมาจากตัวผู้ป่วยและญาติ เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย การเป็นภาระต่อญาติในการนำมารักษา การขาดแคลนสถานพยาบาลและบุคลากรที่ให้บริการ ปัญหาของระบบบริการโดยรวม ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในสัดส่วนที่สูงกว่ามากให้กับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับโรคที่ทำให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพจากความผิดปกติทางจิต เป็นต้น

รศ.นพ.ตะวันชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย ยังมีน้อย หลักฐานการศึกษาที่มีอยู่จากประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางหรือต่ำ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาจากโรคทางจิตเวช ปัญหาสุรา ยาเสพติด คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางกายอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนวัยทำงาน วัยเรียน ที่มีอาการของโรคเรื้อรังต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง การไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้ต้องออกจากการเรียนกลางคันหรือขาดรายได้จากการหยุดงานหรือตกงาน เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมในระยะยาว

ผลการศึกษานี้ประมาณการว่า ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีรายได้โดยเฉลี่ยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยหรือเคยป่วยแต่ปัจจุบันไม่มีอาการแล้วประมาณ 76,000 บาท เนื่องจากการตกงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติป่วยทางจิตแต่ในขณะที่ไม่มีอาการนั้นมีรายได้ในรอบ 1 ปี ไม่แตกต่างจากผู้ไม่เคยป่วย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่หายป่วยแล้วนั้น สามารถกลับไปทำงานมีรายได้ได้ตามปกติไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยป่วย ดังนั้นการลงทุนในการให้บริการรักษาที่มีประสิทธิผลดีและผู้ป่วยเข้าถึงได้จึงน่าจะช่วยลดภาระต่อสังคมในระยะยาว

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ควรให้ความสำคัญในการลงทุนด้านงบประมาณและพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตในเชิงรุก โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เรียกว่า Collaborative Care ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆในการค้นหาและคัดกรองการเจ็บป่วยทางจิตเวชในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งต่อสถานพยาบาลจิตเวชใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆและอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่ริเริ่มโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมบ้านติดตามผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียน แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องการพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น โครงการยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการรักษา หรือผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาจากพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น หากเป็นไปได้ควรศึกษาและพัฒนาระบบการคิดต้นทุนและการเบิกจ่ายบุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องอยู่สังกัดเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องระบบการส่งต่อ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนมาตรการในระยะยาว เช่น เพิ่มการผลิตบุคลากรทางด้านจิตเวชในพื้นที่ขาดแคลน ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ