ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ประกาศออกมาล่าสุด ชี้การส่งออกค่อนข้างดีมีการกระจายตัวได้มากขึ้นหลังการส่งออกรถยนต์กลับมาฟื้นตัว ตัวเลขท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากปัจจัยชั่วคราว (หลังจากเดือนที่แล้วมีแรงหนุนจากเดือนรอมฎอน) โดยมองว่าทั้ง 2 อุตสาหกรรมยังคงมีการกระจายตัวได้ดี ด้านภาคการผลิตส่งสัญญานว่ากำลังจะผ่านระดับต่ำสุด โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ขยายตัว 3.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดของปีนี้ ทั้งนี้การเติบโตหลักมีแรงหนุนจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและกลุ่มยานยนต์ สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) ที่เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็น 61.5% ซึ่งเป็นตัวเลขระดับสูงสุด นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 สะท้อนว่าภาคการผลิตกำลังมีสัญญานที่ดีขึ้น
ด้านรายได้ภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตรยังคงหดตัว ตัวเลขรายได้ภาคการเกษตรมีการปรับลงค่อนข้างแรงอยู่ที่ –3% ตรงกับที่บล.กสิกรไทยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าครึ่งปีหลังรายได้ภาคการเกษตรจะชะลอตัวลง ด้านรายได้นอกภาคเกษตร ตัวเลขเดือนกรกฎาคมออกมาติดลบ 1.6 % โดยเป็นการหดตัวของรายได้ในส่วนของภาคเอกชนถึง 3.4% สอดคล้องกับตัวเลขภาคการบริโภคที่ประกาศออกมาที่มียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเติบโตขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ที่ 0.9% เป็นผลมาจากการนำเข้าเครื่องบินและสินค้าทุน (capital goods) ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขยอดขายสินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าก่อสร้าง หรือเครื่องจักรในประเทศยังคงติดลบ สะท้อนว่าตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่บวกขึ้นมานั้นยังเป็นภาพที่ไม่ชัดเจน ด้านตัวเลขการส่งออกต่างประเทศมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการประกาศตัวเลขล่าสุดของสินค้านำเข้ากลับมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงจากสินค้าทุน ทำให้ดุลการค้าชะลอตัวลงมา ส่งผลให้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด น้อยลงจาก 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้านตัวเลขการลงทุนภาครัฐที่ติดลบมาตลอดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งบล.กสิกรไทยมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ตัวเลขเดือนกรกฎาคมที่ออกมาสามารถกลับมาเป็นบวกได้ สะท้อนว่าเริ่มมีสัญญานที่ดีขึ้นจากประเด็นโครงการต่างๆของภาครัฐเช่นกัน
"ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตา คือการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเรามองว่าน่าจะยังคงฟื้นตัวช้า สำหรับแรงสนับสนุนจากรัฐภายใต้โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่จะเบิกจ่ายได้ในไตรมาสที่ 4 นั้นน่าจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยขนาดโครงการที่ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้นคิดเป็นเพียง 0.3% ของ GDP และด้วยรูปแบบของโครงการที่เป็นลักษณะช่วยลดค่าครองชีพน่าจะทำให้ผลต่อการบริโภคมีน้อยกว่าโครงการลักษณะเพิ่มรายได้" ดร.กำพลกล่าว
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นไปในรูปแบบกระจุกตัว โดยภาคส่งออก ท่องเที่ยว และ การลงทุนภาครัฐ น่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจนกว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองเพราะคาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุด เนื่องจากการลงทุนจากต่างชาติ หายไปตั้งแต่ปี 2557 หากรัฐบาลต้องการให้ตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติกลับเข้ามาอีกครั้ง การอนุมัติเรื่องพรบ. EEC ให้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติและการลงทุนของภาคเอกชนกลับเข้ามาลงทุนได้สูงขึ้น.