โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ "เปิดพื้นที่" ให้เด็กและเยาวชน เข้ามาทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาบ้านเกิดเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว จนเยาวชนในโครงการหลายคนได้มีส่วนในการแบ่งปันแรงบันดาลใจและแนวทางการทำงานสู่สาธารณะ ดังเช่นวงเสวนา "มองเมืองใต้ ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่" ที่จัดขึ้นในงาน Spark You ปลุกใจเมือง ที่จังหวัดสงขลา
"ชีวิตของหนูผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก โตมาได้จนทุกวันนี้ มีเงินเรียนหนังสือ เพราะปลาที่พ่อหาได้จากทะเล ในหมู่บ้านก็มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับทะเลหลายอย่าง เช่น ดูหลำ หรือคนฟังเสียงปลาเพื่อช่วยให้ชาวประมงหาปลาง่ายขึ้น จ้าวทะเล คนที่สามารถดูดาว ดูเมฆ ดูทิศทางคลื่นลมได้ว่าต้องล่องเรือทางไหน เมื่อไรฝนจะตก หรืออูหยำ ซึ่งเป็นการทำปะการังเทียม โดยชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อพลิกฟื้นทะเลที่เสียหายจากการทำประมงผิดวิธีให้กลับมาสมบูรณ์"
ย๊ะห์-ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและวิถีชีวิตของบ้านเกิดเธอที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก่อนขยายความต่อว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ทำให้เธอเห็นทรัพยากรที่มีมากในชุมชน จนสนใจทำโครงการศึกษาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและทะเล ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 5 เพื่ออนุรักษ์และสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของภูมิปัญญาบ้านสวนกงแก่คนในชุมชน และสังคม
ขณะที่เกรซ-เพรชเชิช เอเบเล อีเลซุคกู เยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการพลังเยาวชนพลเมืองฯ ผ่านโครงการ Beach for life เพื่อศึกษาปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็ง แบ่งปันอีกมุมมองจากคนเมืองที่ไม่เคยมีวิถีชีวิตเกี่ยวกับประมง ทะเลและหาดทรายสำหรับเธอเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด แต่เมื่อเกรซได้รู้ว่าเบื้องหลังความงามของหาดสมิหลาที่คุ้นเคยกำลังจะหายไป เธอก็คิดว่าควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาหาดไว้
"ตอนแรกหนูแค่ชื่นชมความงามของหาดสมิหลาเหมือนคนอื่น แต่พอเพื่อนชวนมาทำโครงการ จึงได้เห็นว่าพื้นที่กำลังมีปัญหา อย่างปัญหาการกัดเซาะชายหาด ที่ถูกแก้ไขด้วยการสร้างโครงสร้างแข็งกันคลื่น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม และยิ่งเกิดการกัดเซาะมากขึ้น ที่สำคัญคือ คนในเมืองที่อยู่ใกล้กับหาดสมิหลาที่สุด กลับยังไม่รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของชายหาด และผลกระทบของโครงสร้างแข็งว่าส่งผลกระทบต่อชายหาดอย่างไร จึงอยากให้คนในเมืองหันมาสนใจปัญหาตรงนี้มากขึ้น โดยเริ่มจากตัวเราไปเรียนรู้และลงมือทำก่อน"
จากการมีส่วนร่วมรักษาชายหาดด้วยการเรียนรู้และเก็บข้อมูลในชุมชนในโครงการ Beach for life ทำให้ ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม สนใจศึกษากฎหมายเกี่ยวกับชายหาดเพื่อขยายมิติความเข้าใจ จนเห็นความเชื่อมโยงว่ากฎหมายให้สิทธิคนและชุมชนในการดูแลทรัพยากร เพราะการมีชุมชนย่อมเกิดวิถีของชุมชน ที่บ่งบอกว่าคนในชุมชนอยากดำเนินชีวิตแบบไหน อยากใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างไร นำมาสู่การต่อยอดกระบวนการดูแลและปกป้องชายหาดด้านกฎหมายใน โครงการ Law long beach
สิ่งที่ฝนและเพื่อนเลือกทำคือการสร้างความตระหนักให้ผู้คนในสงขลารับรู้ "สิทธิ" ที่สามารถมีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนาชายหาด ร่วมแสดงความคิดเห็น และสร้างกระบวนการติดตามต่อเนื่องในทุกโครงการที่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของหาดทรายและทรัพยากรอื่น
"ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยไม่พึ่งพิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทั่งอากาศที่หายใจก็มาจากการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เรามองว่าทรัพยากรเป็นของเรา แต่คนส่วนใหญ่กลับคิดว่า คนที่มีสิทธิดูแลรักษาทรัพยากรคือรัฐเท่านั้น เราต่างไม่พยายามออกมาปกป้อง ไม่ออกมาบอกว่าเราอยากให้ชายหาดบ้านเราเป็นแบบไหน ทั้งที่หากว่าตามภาษากฎหมาย ส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐ ประกอบขึ้นมาจากประชาชน"
ฝนบอกต่อว่า นอกจากการรับรู้สิทธิในการแสดงความเกี่ยวกับชายหาดแล้ว สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันคือ "เริ่มทำ" ในสิ่งที่ถนัด หรือสนใจ เพื่อปกป้องและดูแลชายหาดให้ดีขึ้น แม้ตอนเริ่มทำอาจยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอแค่ลงมือทำไปเรื่อยๆ แล้ววิธีการจะเกิดขึ้นเองระหว่างทาง
ก่อนวงเสวนาจะจบ เหล่าเยาวชนและผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันสรุปแนวทางการทำงานขั้นต่อไปที่เป็นโจทย์สำคัญของการทำงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ นั่นคือ การสื่อสารทำความเข้าใจปัญหาทะเลและชายหาด และระดมความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่อื่น เพื่อการแก้ปัญหาที่เข้มแข็งขึ้น โดยทำให้เห็นว่า ภาคใต้จะดำรงอยู่ได้ ต้องมีแม่น้ำ ทะเล ภูเขา หากสมดุลส่วนใดเสียไป ย่อมเป็นความเดือดร้อนของทุกฝ่าย เพราะทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเดียวกันที่ชื่อว่า "โลก"