ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. มีหลักการ ดังนี้
1. ร่าง พ.ร.บ. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรององค์กรการเงินชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและสามารถใช้สถานะการเป็นนิติบุคคลในการทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยการขอจดทะเบียนเป็นองค์กรการเงินชุมชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ. นี้ได้โดยสมัครใจ และหากองค์กรการเงินชุมชนใดต้องการดำเนินการแบบเดิมตามที่ได้ปฏิบัติภายใต้กฎหมายเดิมของตนเองก็สามารถกระทำได้ ในการนี้ องค์กรการเงินระดับชุมชนใดที่มีความพร้อมและต้องการได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมก็สามารถที่จะเข้ามาขอรับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ได้
2. ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและรับผิดชอบเงินของสมาชิกเอง โดยมีธนาคารผู้ประสานงานสนับสนุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยไม่มีบทบัญญัติให้หน่วยงานรัฐหรือธนาคารผู้ประสานงานมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของประชาชน หรือกำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนต้องแบ่งปันกำไรหรือนำส่งเงินให้กับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
3. ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากธนาคาร
ผู้ประสานงานไม่ว่าจะเป็นในด้านของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางการเงินขององค์กรการเงินชุมชน การตรวจสอบด้านการบริหารจัดการและการบริหารความเสี่ยงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานให้แก่องค์กรการเงินชุมชนอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
ในการนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ตามความเห็นของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กรการเงินระดับชุมชน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนชื่อสถาบันการเงินชุมชนที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ. เป็นชื่ออื่นตามข้อเสนอแนะของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับสถาบันการเงินชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน