นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายล่าสุด ของคนไทย ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มลดลง ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 340 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปี (2557-2559 ) พบประเด็นน่าสนใจที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ได้แก่ ภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ปี 2559 อยู่ที่ 10.54 ต่อประชากรแสนคน มีเพียงภาคใต้เท่านั้น ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง จาก 5.78 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 ส่วน ภาคกลาง เป็นภาคที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ จาก 4.97 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ขยับขึ้นเป็น 5.08 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า 13 ต่อประชากรแสนคน ได้แก่ จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด และลำปาง ซึ่ง จันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ อยู่ที่ 14.35 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ กำแพงเพชร เป็นจังหวัดหน้าใหม่ ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 10 ลำดับแรกของประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า จังหวัด ลำพูน จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ติดต่อกันสองปี ปรับลดลำดับเป็นอันดับที่ 7 ประเทศ ในปี 2559
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดให้การลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นตัวชี้วัดสำคัญหนึ่งในการดำเนินงานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตั้งเป้าหมาย ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2564 ทั้งนี้ ได้เน้นเฝ้าระวังในเขตภาคกลางมากขึ้น เนื่องจาก พบว่า ชายวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.55 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 75 -79 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 9.11 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกคนช่วยได้ ดังคำขวัญรณรงค์ปีนี้ โดย สมาคมนานาชาติเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention :IASP) ที่ว่า "Take a minute, change a life. : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน" ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ ด้วยการใช้หลัก 3ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง กล่าวคือ สอดส่อง มองหา (Look) มองส่องตนเองและคนใกล้ชิด ค้นหาสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่า อยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ การรับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง และ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ภายหลังการให้ความช่วยเหลือจิตใจเบื้องต้นตามความเหมาะสมและสถานการณ์ หากไม่ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันดูแลส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
"เวลาแต่ละคน อาจไม่เท่ากัน หากขอ เพียง 1 นาที หันกลับมาฟัง เพียง 1 นาที หันกลับมาให้กำลังใจ และเพียง 1 นาที ชีวิตจะเปลี่ยนแปลง และอาจใช้เวลานี้ โทรมาปรึกษาขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจน สามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือได้ที่ แอพลิเคชั่นSabaijai ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ android และ ios " อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว