นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล สร้างมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาทต่อปี อ้อยจึงเป็นพืชไร่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกไปต่างประเทศประมาณร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด ประเทศส่วนใหญ่ในตลาดโลกไม่สามารถผลิตน้ำตาลได้ บางประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และแนวโน้มความต้องการน้ำตาลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนไร่นาเป็นไร่อ้อยมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว อ้อยยังสามารถนำใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องได้ อาทิ นำผลพลอยได้จากการผลิตไปเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน กากอ้อยนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าหรือนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไร่อ้อยมากขึ้น แรงงานและเครื่องจักรที่จำเป็นในกระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป ขนส่งและจำหน่าย จึงมีความต้องการสูงตามไปด้วย การผลิตแรงงานหรือพัฒนาทักษะแรงงานดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของ กพร.ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งสอดรับกับ 8 วาระปฏิรูปเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้าน เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วย
บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายและเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ไฮดรอลิค ผู้นำระบบนิวแมติก,กระบอกไฮดรอลิคและเพาเวอร์ยูนิท ผลิตรถดีมซุงและรถตัดอ้อย นอกจากนี้ยังผลิตและประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิค เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ อินเวอเตอร์ อีกด้วย บริษัทฯ มีความต้องการที่จะยกระดับทักษะฝีมือของพนักงาน กลุ่มแรงงานใหม่ ให้สอดคล้องหรือเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งมีห้องสำหรับอบรมภาคทฤษฎี และมีสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักรสำหรับการฝึกในภาคปฏิบัติ รวมถึงวิทยากรผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้วย จึงร่วมกับกพร. เพื่อดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานในสาขาต่างๆ ที่บริษัทฯ มีความพร้อม อาทิ สาขาเกี่ยวกับ Hydraulic ช่างซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ สาขาช่างเชื่อม สาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย
กพร.มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น ครอบคลุมในทุกๆ อุตสาหกรรม ดังนั้นการร่วมกับบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถตัดอ้อย และเป็นผู้นำด้านไฮดรอลิคมากกว่า 30 ปี มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ในด้านดังกล่าวให้กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานใหม่ ที่ต้องการพัฒนาทักษะ ความรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อแรงงานเหล่านี้ผ่านการอบรมโดยศูนย์ฝึกอบรม College of Hydraulic แล้ว บริษัทฯ จะรับเข้าทำงาน และส่งไปประจำตามฐานการผลิตอื่นๆ ด้วย การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนั้น กพร.และบริษัท จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่ช่วยให้แรงงานใหม่มีทักษะฝีมือและมีงานทำ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.ภานุ ถนอมวรสิน กรรมการบริหารของบริษัท กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถผลิตรถตัดอ้อยได้เพียง 500 คัน ในขณะที่ตลาดมีความต้องการถึง 4,000 คัน สำหรับการผลิตรถตัดอ้อยนั้น ต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม ซึ่งปัจจุบันขาดแรงงานสาขานี้มาก อีกสาขาที่ต้องการร่วมกับกพร.คือการพัฒนาทักษะด้านช่างซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ได้ รวมถึงการฝึกในสาขา พนักงานขับรถตัดอ้อย ซึ่งเมื่อได้รับการส่งเสริมและร่วมกันกับภาครัฐ โดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยให้แรงงานหันมาสนใจสาขานี้มากขึ้น อีกทั้งมีมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นเครื่องการันตีทักษะ ความรู้ ความสามารถ จึงคิดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น