แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564)

พฤหัส ๑๔ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๒:๕๖
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) (แผนพัฒนาตลาดทุนฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีเหตุผลความจำเป็นและสาระสำคัญ ดังนี้

เหตุผลความจำเป็น

ตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการใช้ประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจจริงและภาครัฐที่เพิ่มขึ้นผ่านการระดมทุนในตลาดทุน ตลอดจนการเป็นช่องทางการออมและการลงทุนของภาคประชาชนในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทิศทางของตลาดทุนโลกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและความท้าทายในการแข่งขันที่มากขึ้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เป็นไปอย่างเสรี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงกระแสการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การลงทุนและจัดหาเงินทุนมีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่จำกัดเฉพาะในประเทศอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนและผู้ระดมทุนมีโอกาสและทางเลือกที่จะมุ่งไปยังประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญ

แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ พัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง แข่งได้ เชื่อมโยง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

แผนตลาดทุนไทยได้กำหนดกรอบมาตรการหลัก 5 มาตรการ แบ่งเป็น 14 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุนอีก 44 แผนงาน โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

มาตรการหลักที่ 1 การเป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs เช่น กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือกลุ่มผู้ที่มีความรู้ความคุ้นเคยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง Financial Technology (FinTech) ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม

มาตรการหลักที่ 2 การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถเป็นช่องทางให้กับภาครัฐและเอกชนในการระดมทุนขนาดใหญ่ เช่น การเพิ่มรูปแบบการระดมทุนที่ให้ภาคเอกชนมีโอกาสหรือมีส่วนในการร่วมลงทุนกับภาครัฐ (Public Private Partnership: PPP) ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค และมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขนาดของตลาดทุนไทย

มาตรการหลักที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย เพื่อทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้กับคู่แข่งในต่างประเทศ ตลอดจนดูแลให้ประชาชนมีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงช่องทางลงทุนในต้นทุนที่เหมาะสมและได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ดังนั้น การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่

(1) การส่งเสริมศักยภาพตลาดทุนไทย โดยการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

(2) การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ปรับปรุงกฎระเบียบ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ที่เป็นธรรม โดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ตนต้องการได้ และเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนผ่านการปรับปรุงกฎหมายและกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อรองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน

(3) การยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย ทั้งในเรื่องโครงสร้างและการตัดสินใจของ ตลท. การรองรับมาตรฐานสากล และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านทางการปรับปรุงกฎหมายและกฎกติกาต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อใช้วิเคราะห์การลงทุนในตลาดทุน

(4) การสร้างบุคลากรในตลาดทุน โดยการพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

มาตรการหลักที่ 4 การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค โดยส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน เชื่อมโยง สามารถเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญ ของภูมิภาค และมีผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่พร้อมรองรับการเป็นแหล่งลงทุนสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการลงทุนในภูมิภาค

มาตรการหลักที่ 5 การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่

(1) การจัดให้มีผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุและการจัดให้มีระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ

(2) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ

(3) การพัฒนาความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานของไทย

(4) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีดังนี้

1. ตลาดทุนจะเป็นกลไกระดมทุนที่สำคัญของภาครัฐและภาคธุรกิจทุกขนาด โดยภาคธุรกิจจะสามารถใช้ตลาดทุนไทยในการตอบสนองความต้องการด้านการระดมทุนได้ครบถ้วนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้สะดวกขึ้นผ่านช่องทางที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ตลาดทุนไทยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงเงินทุนและลดความเหลื่อมล้ำ

2. ตลาดทุนจะเป็นกลไกระดมทุนที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีความพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันและเป็นธรรมต่อผู้เล่นทุกระดับ ทั้งในด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ และภาษี รวมทั้งมีมาตรฐานสากลในทุกด้าน มีธรรมาภิบาล มีการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม และมีต้นทุนในการระดมทุนที่แข่งขันกับตลาดชั้นนำในภูมิภาคได้ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์คิดเป็น 1.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และมีมูลค่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนคิดเป็น 0.25 เท่าของ GDP

3. ตลาดทุนไทยจะมีความพร้อมในการเป็นแหล่งทุนของประเทศ CLMV และเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกที่สนใจลงทุนใน CLMV ได้หลากหลายสกุลเงินและรูปแบบสินทรัพย์ตามความต้องการของตลาด

4. ตลาดทุนไทยจะมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ตลาดทุนไทยในการออมและลงทุนได้อย่างทั่วถึง ทำให้ประเทศมีความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ตลาดทุนไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานทางการเงินที่เหมาะสม อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนพัฒนาตลาดทุนฯ จัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนา ตลาดทุนไทยที่แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 372/2558 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมสรรพากร สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการ และการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ นี้ จะกำกับดูแลโดยคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยข้างต้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และต่อเนื่อง

สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3689 โทรสาร 0 2273 9987

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version