ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะผลักดันยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุตสาหกรรม การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกด้วยการใช้พื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างด้านอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งในช่วง 6 เดือนตั้งแต่มีนาคม – สิงหาคมที่มีการจัดตั้งสำนักงาน EEC ขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น ภาพของโครงการก็เริ่มมีความชัดเจนและเริ่มเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้เร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ EEC เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการเป็นทำเลที่ตั้งที่แข็งแกร่งและดีที่สุดต่อการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยยังมุ่งให้เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม ประกอบกับการมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานในเมืองแห่งอุตสาหกรรมและเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ด้วย 5 โครงการหลัก คือ
· การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคนในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรกอาจพัฒนาเป็นแอร์พอร์ตซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ส่วนเฟสที่ 2 มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นมหานครการบินที่รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนในอีก 10 ปี และ 60 ล้านคนในอีก 15 ปี โดยสนามบินนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคม โลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
· การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นแผนงานที่รองรับโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่ไร้รอยต่อ สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น
· การพัฒนาท่าเรือ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 เพื่อให้เกิดศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกรถยนต์ 3 ล้านคัน/ รองรับเรือขนส่งขนาดความจุ 1.6 แสนตัน ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 จะพัฒนาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และท่าเรือสัตหีบ จะปรับปรุงให้สามารถรองรับด้านการท่องเที่ยวเรือขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน
· โครงการดึงดูด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะใช้การเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงกับประเทศชั้นนำต่างๆ และจัดตั้งโซนพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม S – Curve เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังคาดหวังอานิสงส์ที่ญี่ปุ่นอาจลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน โดยในระยะเวลา 5 ปีแรกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 14 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบิน หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร และปิโตรเคมีและเคมีชีวภาพ
· การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Cities) โดยจะพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้กระทบกับประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้กำหนดแนวความคิด Smart ที่จะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมือง 3 รูปแบบคือ Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ซึ่งจะเป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น Smart Growth โดยออกแบบให้เป็นเมืองกระชับ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและประชากรสามารถเดินและใช้จักรยานได้ และ Low Carbon Society (LCS) หรือสังคมที่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซาร์บอนไดออกไซด์จากชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มีการประเมินงบการลงทุน รวมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนภายในระยะเวลา 5 ปีแรกว่า โครงการต่างๆ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมานั้นน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ดร.อุตตม กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของการจัดตั้งโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ (มี.ค. – ก.ค.) ได้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,400 ล้านบาท เป็นคำขอใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท และมีการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีก 1,466 ไร่ ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง ที่อยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในส่วนของขั้นตอนการติดตามและชักชวนนักลงทุนยังได้มีการเสนอนโยบายไปยังธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ อาทิ บีเอ็มดับเบิ้ลยู นิสสัน หัวเหว่ย ซัมซุง อาลีบาบากรุ๊ป ฟูจิฟิล์ม แอร์เอเชีย สำหรับกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างทำการศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดโครงการลงทุนร่วมกับนักลงทุนนั้น ได้แก่ โบอิ้ง และแอร์บัส และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนในเดือนมีนาคม 2561 ส่วนทางด้านลาซาด้ากรุ๊ป ได้มีการจัดทำมาตรการส่งเสริมแล้วเสร็จและกำลังอยู่ระหว่างเจรจารอบสุดท้าย และในส่วนของการประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลในการชักชวนให้เกิดการลงทุนใน EEC ดิจิทัลพาร์ค ยังคาดว่าจะมีทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม คาเลสติก้า ลงนามความร่วมมือในเดือนกันยายน ปี 2560
ส่วนความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ อาทิ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายแล้ว 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กระบวนการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการการกำหนดลักษณะเงื่อนไขซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ทางด้านการท่องเที่ยว ได้กำหนดลักษณะของ 3 เมืองที่มีการวางแผนอย่างสมบูรณ์แล้วคือ Thai Way of Life (ฉะเชิงเทรา) Modern of The East (ชลบุรี) และ Biz City (ระยอง) การกำหนดเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กำลังอยู่ในช่วงหาคู่สัญญา ส่วน 2 ปัจจัยสำคัญอย่างน้ำประปาและพลังงาน มีการวางแผนที่สมบูรณ์และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องของกฎหมาย EECจะถูกนำเข้ารัฐสภาในเดือนถัดไป ดร.อุตตม กล่าวปิดท้าย
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้นำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนอีกกว่า 300 ราย ร่วมรับฟังนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมสำรวจพื้นที่ที่เอื้อต่อการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสำนักงานวิทยสิริเมธี โดยหลังจากร่วมรับฟังนโยบายดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจขอลงทุนในพื้นที่โครงการฯ ได้อย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202 4435 หรือเข้าไปที่www.industry.go.th หรือ facebook.com/industryprmoi