นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนสิงหาคม 2560 พบว่า ลดลงร้อยละ 16.41 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สิงหาคม 2559) โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัว ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากโรงกลั่นและผู้ผลิตไบโอดีเซล มีสต็อกน้ำมันปาล์มจำนวนมาก ขณะเดียวกันโรงสกัดปาล์มน้ำมัน มีสต็อกคงเหลือจำนวนมาก ต้องระบายน้ำมันปาล์มออกจากสต็อกโดยจำหน่ายในราคาที่ต่ำลง เป็นผลให้รับซื้อผลปาล์มน้ำมันในราคาที่ต่ำลง ลำไย ราคาลดลงเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการกระจายผลผลิตโดยเชื่อมโยงไปยังตลาดปลายทางในจังหวัดต่างๆ ช่วยพยุงราคาได้ระดับหนึ่ง สุกร ราคาลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงสู่ฤดูฝนทำให้มีสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรชะลอตัวลงเล็กน้อย ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการบริโภคไข่ไก่ชะลอตัวลงเล็กน้อย กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการของห้องเย็นที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ปลูกยางของไทย มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางจากภาครัฐส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ไก่เนื้อราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2560 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร คาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2559
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สิงหาคม 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย มังคุด สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และ กุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2560 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม
ทั้งนี้ ภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกร ในเดือนสิงหาคม 2560 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ร้อยละ 2.14 เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกันยายน 2560 คาดว่าอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2559