นางมัลลิกา ภูมิวาร ที่ปรึกษาภาคเอกชนจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสียภาษีสรรพสามิตและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอนซัตติ้ง จำกัด เผยถึงการปรับตัวของภาคเอกชนหลังพ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้ว่า "โดยรวมแล้ว มองว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอัตราภาษีที่ประกาศออกมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ 'ดีพอใช้' เพราะยังมีหลักเกณฑ์เรื่องความ "ซับซ้อน" ที่มีการแบ่งขั้นอัตราภาษี (เทียร์) อยู่ โดยหลายสินค้ายังคงโครงสร้างเก็บตามมูลค่าเหมือนเดิม ปรับแค่อัตรา เช่น รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเก็บทั้งมูลค่าและปริมาณ โดยเพิ่มน้ำหนักของปริมาณ (ตามดีกรีแอลกอฮอล์) โดยทั้งสองกลุ่มยังคงมีการแบ่งขั้นอัตราภาษีที่ซับซ้อนมาก ขณะที่สินค้าบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่หมด เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ภาษีแบบผสมโดยมีการเพิ่มการเก็บภาษีตามปริมาณความหวานเข้ามาโดยแบ่งเป็นหลายขั้นอัตราภาษี ส่วนบุหรี่ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ภาษีแบบผสมโดยแบ่งเป็นสองขั้นอัตราภาษีตามมูลค่า จากเดิมที่ไม่เคยแบ่งขั้นอัตราเลย การที่ระบบภาษียังคงซับซ้อนอยู่เช่นนี้ ถือว่ายังไปไม่ถึงมาตรฐานสากลของระบบภาษีที่ดีที่ต้องมีโครงสร้างเรียบง่าย และที่น่าเป็นห่วงคือจะจูงใจให้เกิดการเลี่ยงภาษีด้วยการปรับลดราคาหรือปริมาณตามขั้นอัตราภาษี เรียกได้ว่าระบบใหม่ยังคงมี 'ช่องโหว่' ซึ่งรัฐควรต้องหาทางอุดกันต่อในอนาคตด้วยการยกเลิกระบบขั้นอัตราภาษีแล้วหันมาเก็บภาษีในอัตราเดียว อย่างในกรณีภาษีบุหรี่ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้จะต้องยุบขั้นอัตราภาษีเหลือเพียงอัตราเดียวภายใน 2 ปี เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเลี่ยงภาษีได้ด้วยการลดราคาให้เข้าขั้นอัตราภาษีต่ำ เป็นต้น
ขณะที่ความเห็นด้าน รศ. ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าถ้าดูภาพรวมสินค้าส่วนใหญ่มีภาระภาษีคงเดิม เพียงแค่ปรับลดอัตราภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับฐานภาษีใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำ แต่ที่น่าสนใจคือ ภาษีบาปที่มีการนำอัตราภาษีตามปริมาณมาใช้กับยาสูบเพื่อแก้ไขปัญหาบุหรี่ราคาถูกที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และการเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณของแอลกอฮอล์ในโครงสร้างภาษีสุราเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการเก็บภาษีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ดี ก็ขอชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนในการกำหนดโครงสร้างภาษีบาปครั้งนี้
"แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีที่ซับซ้อนจากการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันตามราคาของสินค้าในกรณีของไวน์และบุหรี่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล และอาจขัดต่อหลัก WTO ได้ โดยแม้ว่าตัวกฎหมายอาจไม่ได้มีการกำหนดว่าสินค้านำเข้าต้องเสียภาษีในอัตราที่ต่างจากสินค้าผลิตในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ (De Facto) หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจสร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าผลิตในประเทศ และอาจถูกมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามหลัก National Treatment มาตรา 3 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าของ WTO อย่างสินค้ายาสูบที่มีรัฐเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และครองตลาดบุหรี่ด้วยสินค้ากลุ่มราคาถูกต้องรอดูกันต่อไปว่าโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ที่แบ่งเป็นหลายขั้นนั้นจะส่งผลทำให้ผู้ผลิตในประเทศได้เปรียบผู้นำเข้าหรือไม่แค่ไหนอย่างไร แต่กรณีบุหรี่ กระทรวงการคลังก็กำหนดให้มีการนำอัตราภาษีเดียวมาใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในช่วงนี้กรมสรรพสามิตควรติดตามผลการจัดเก็บรายได้ภาษีจากระบบที่มีการแบ่งขั้นของอัตรา เช่น ยาสูบอย่างใกล้ชิด ว่าจะกระทบรายได้ภาษีที่เคยเก็บได้อย่างไร รายได้ภาษียาสูบนั้นต่ำกว่าประมาณการไปถึง 9 พันล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 13 ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ทั้งนี้ ในอนาคต ในการกำหนดนโยบายภาษีขอยากให้กระทรวงการคลังเปิดเผยหลักคิดต่อสาธารณชนมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะได้สามารถเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องและสามารถเตรียมความพร้อมรองรับได้อย่างทันท่วงที"