นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังเปิดงานเสวนา "หัตถกรรมแห่งศตวรรษ มรดกภูมิปัญญาที่ใกล้สูญหาย" ว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้มีความสำคัญต่อสร้างการรับรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญและประโยชน์แห่งการใช้สอยในประเภทงานศิลปหัตถกรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ทั้งที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องประกอบยศของบุคคลชนชั้นสูง เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องทางศาสนา พิธีกรรมและวิถีชีวิต ซึ่งงานศิลปหัตถกรรมดังกล่าวบางประเภทสูญหายไปแล้ว หรือบางประเภทกำลังจะสูญหายการจัดเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้ช่างหัตถศิลป์ซึ่ง SACICT เชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม นำคุณค่าแห่งผลงานศิลปหัตถกรรมที่มีมาแต่ครั้งอดีตกาลล่วงมาหลายศตวรรษไปเป็นแรงบันดาลใจ และร่วมกันสืบสานและรักษามรดกหัตถศิลป์อันล้ำค่าไม่ให้สูญหาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการนำองค์ความรู้ของงานช่างชั้นสูงและเทคนิคเชิงช่างไปพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดขยายผลงานหัตศิลป์สู่งานนวัตศิลป์ในชีวิตประจำวันต่อไป
งานเสวนาในครั้งนี้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ความสำคัญ และการใช้สอย งานหัตถกรรมอันเป็นองค์ประกอบในพระราชพิธีราชประเพณีต่างๆ โดยผู้รอบรู้อย่างอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บุคคลที่ SCAICT ยกย่อง เชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน และอาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช ข้าราชการบำนาญ อดีตนักโบราณคดี กรมศิลปากร มาถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญของพระราชพิธี ราชประเพณีสำคัญ อย่างพระราชพิธีโสกันต์หรือพระราชพิธีโกนจุกของบุคคลชั้นสูงในสมัยโบราณ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ มีการจัดแสดงผลงานหัตถกรรมชั้นสูงมรดกแห่งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณหลายศตวรรษ ในประเภทงานที่สำคัญๆ ซึ่งบางประเภทมีอายุหลายร้อยปีโดยที่ไม่สามารถหาชมที่ใดได้อีกแล้ว หรือบางประเภทกำลังไกล้จะสูญหาย
เสร็จจากกิจกรรมเสวนาแล้วยังนับเป็นโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้ว ที่จะได้มีโอกาสไป ชมงานหัตถกรรมในสมัยราชสำนัก นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญสะท้อนถึงศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องประกอบยศ ของบุคคลชนชั้นสูง เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องทางศาสนา พิธีกรรมต่างๆ ณ "ตำหนักวาสุกรี" ในบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)ที่ไม่เคยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมมาก่อนเลยที่สำคัญมีบุคคลสำคัญอย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ในครั้งนี้ด้วย
งานเสวนา "หัตถกรรมแห่งศตวรรษ มรดกภูมิปัญญาที่ใกล้สูญหาย" ในครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT มีความตั้งใจจัดขึ้น เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง