"ผมทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์มาประมาณ 30 ปี ตอนทำงานโฆษณาได้สัมผัสเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ งานฝีมือของคนไทย ภูมิปัญญาต่างๆ เพื่อนำไปสื่อสารในรูปแบบสื่อต่างๆ ให้รับรู้ในวงกว้างจนได้มีโอกาสร่วมงานกับ SACICT และได้เรียนรู้เรื่องการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ได้เห็นคุณสมบัติของผ้า และสีจากธรรมชาติ มองเห็นถึงแนวทางในการพัฒนาต่อยอดรูปแบบ กระบวนการผลิต ตลอดจนการพัฒนาวัตถุดิบใหม่ๆ เมื่อทาง SACICT ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้พบเจอรู้จักและร่วมพัฒนาชิ้นงานกับครูช่างสมาชิกและผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มเฮือนปอกระดาษสา จ.เชียงใหม่ ที่พัฒนากระดาษสา เป็นแผ่นมาสู่การทอกระดาษสาขึ้นมาเป็นผืน จนสามารถนำมาออกแบบต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาอีกมากมายหรือย่ามของชาวปกากะญอที่มีครูช่างของ SACICT คือ ครูช่างสมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานผ้าทอกะเหรี่ยง เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2559 เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานร่วมกันด้วย จากภูมิปัญญาในเรื่องการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ เราก็ได้ทดลองพัฒนารูปแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าใส่ไอแพด กระเป๋าใส่มือถือ ที่มีการนำดีไซน์ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปผสานกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมในขณะเดียวกันก็ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนด้วย เช่นพูดคุยให้เห็นถึงข้อดีของการย้อมสีที่มาจากธรรมชาติ โดยกระบวนการทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นจากการที่ SACICT ได้เข้ามาเป็นแกนนำให้ดีไซน์เนอร์อย่างผม ได้ไปเจอกลุ่มชาวบ้าน เราก็ได้ร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย ทำให้เกิดงานใหม่ๆ ออกมาอย่างที่เห็น"
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาด จิรวัฒน์ได้สร้างแบรนด์ Craftroom ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการร่วมพัฒนากับกลุ่มภูมิปัญญาต่างๆและจำหน่ายสินค้าให้เป็นที่รู้จักซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น นอกจากจะเรียนรู้จากกระบวนการต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังได้ศึกษาความเป็นไทย นำประสบการณ์และความรู้ในการทำงานออกแบบของจิรวัฒน์มาช่วยในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้กลายมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่มีรูปแบบร่วมสมัยและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น สมุดโน้ตเย็บมือปกผ้าไทย กระเป๋าใส่เครื่องเขียนติดปกสมุด การทอตุ้มหูลายกราฟฟิค การนำผ้าทอมือแบบดั้งเดิมงานทอกระดาษสามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีจุดเด่นคือ เป็นงานทำมือที่มีเรื่องราวมากมายอยู่ในชิ้นงาน ให้สัมผัสที่แตกต่าง สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจโดยแนวทางจะเน้นสร้างอัตลักษณ์ ความปราณีตจากการทำมือ การใช้วัตถุดิบ สีจากธรรมชาติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและยังเป็นการสร้างจุดขายเพื่อก้าวสู่ตลาดสินค้าอินทรีย์ซึ่งเป็นเทรนด์ของตลาดโลกในปัจจุบันด้วย
ในโอกาสนี้ จึงต้องขอบคุณ SACICT ที่เป็นหน่วยงานในการชี้ทางและสร้างโอกาสให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ได้ทำให้เรามารู้จักและเรียนรู้ในภูมิปัญญาของงานหัตถกรรมท้องถิ่น สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป