นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ ageing society โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้สูงอายุชาวไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" ซึ่งจะมีผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากรทุกๆ 5 คน หรือประมาณกว่า 14 ล้านคน และภายในปี 2583 จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 17 ล้านคน มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานภาคเอกชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้จัดนิทรรศการ "วัยเก๋า ยังแฮปปี้ 4.0 : เตรียมความพร้อมสู่ช่วงเวลาแห่งความสุข" ภายใต้แนวความคิด "เกษียณอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้" ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2560 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ณ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ชั้น 1 กระทรวงดิจิทัลฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
การจัดงานดังกล่าว ประกอบด้วยบูธจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ทำงานเพื่อผู้สูงอายุโดยตรง อาทิ สถานีวิทยุ "คลื่นความคิด" FM 96.5 MHz และคลื่น AM 1494 KHz ของ อสมท. (MCOT) สื่อวิทยุที่จัดรายการที่มีประโยชน์กับผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง สถานีโทรทัศน์ช่อง ThaiPBS ผู้นำด้านการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ "PlantD" กิจการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณด้วยการปลูกผักออร์แกนิค "YoungHappy" ผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุเพื่อชีวิตที่มีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้ "บ้านปันรัก" ผู้นำด้านการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งทางกายและใจให้กับผู้สูงอายุ
โดยทั้ง 3 วันของการจัดงานฯ แบ่งการจัดกิจกรรมเป็น 2 ช่วง คือ ภาคเช้าและภาคบ่าย ซึ่งจะมีกิจกรรมและฟังบรรยายในหัวข้อที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น สิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่ผู้สูงอายุต้องรู้ จากกรมกิจการผู้สูงอายุ การเตรียมตัวเกษียณอย่างปลอดหนี้ กิจกรรมแนะนำการวางแผนทางการเงินอย่างไรให้เกษียณอย่างปลอดหนี้ หรือถ้ามีหนี้จะจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่ออิสรภาพทางการเงินในบั้นปลาย พร้อมการสอนร้องเพลงโดยอาจารย์ที่มีชื่อเสียงจากสถานีโทรทัศน์ช่อง MCOT สำหรับวัยเก๋าที่มีใจรักในเสียงเพลง กิจกรรมฝึกความจำและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ด้วยการเล่นเกมง่ายๆ เช่น บิงโก กิจกรรมการสอนปลูกผักออร์แกนิค และสร้างรายได้หลังเกษียณด้วยการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง กิจกรรมการสอนเล่นแอปพลิเคชั่นสุดฮิต เช่น Line และ Facebook สำหรับผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์
รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวต่อไปว่า "การก้าวข้ามผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ยุค Ageing 4.0 กล่าวคือ Ageing ยุค 1.0 เป็นยุคที่เน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย Ageing ยุค 2.0 เป็นยุคที่เน้นการแก้ปัญหาจากสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุคนี้ Ageing ยุค 3.0 เป็นยุคที่เน้นมาตรการป้องกันผลกระทบของปัญหาสังคมสูงวัย และ Ageing 4.0 ยุคของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกจากวิกฤตของสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาส หมายถึงการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป อาจจะก้าวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่เพื่อจะหารายได้ที่มากขึ้น ซึ่งข้อได้เปรียบของผู้สูงอายุที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง คือ มีเงินทุนค่อนข้างมาก รวมถึงมีเครือข่าย เพื่อนฝูงมากมาย ตลอดจนมีประสบการณ์ และความรอบคอบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจที่ทำประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้มากกว่าธุรกิจที่ทำโดยคนหนุ่มสาว
ทั้งนี้ การรู้เท่าทันโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ โดยการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และใช้ประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างกิจกรรมของวัยพักผ่อนอย่างมีความสุขด้วยตนเอง ซึ่งเป็นที่มาของกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ YoungHappy และพันธมิตรจัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้กำลังจะเกษียณอายุราชการ หรือ ผู้สูงวัย ให้สามารถมีความสุขและพึ่งพาตนเองจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้"