ธนาคารกรุงเทพจับมือ ม.ธรรมศาสตร์ ติดปีกธุรกิจ Startup ไทย เสริมเขี้ยวเล็บความรู้-ประสบการณ์-เครือข่าย-แหล่งเงินทุน

อังคาร ๑๙ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๕:๑๗
นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจ Startup กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ธุรกิจ Startup ของไทย พัฒนาขีดความสามารถและสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ด้วยเล็งเห็นว่า ธุรกิจ Startup จะทวีความสำคัญมากขึ้นและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

"ธนาคารให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ Startup และ SMEs อย่างมาก เนื่องจากถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2559 GDP ของ SMEs ขยายตัว 4.8% และคิดเป็นสัดส่วนถึง42.1% ของ GDP ประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)) โดยกลุ่มธุรกิจStartup เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากต่อการเติบโตดังกล่าวและมั่นใจว่าจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการสนับสนุนและการพัฒนาของธุรกิจ Startup ในประเทศได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในแง่ความรู้ทางวิชาการและความสามารถพัฒนาธุรกิจด้วย"

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ Startupของประเทศไทย ในส่วนที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ โดยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการในทุกสาขาวิชาที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ด้านทางธุรกิจและร่วมสนับสนุนลูกค้า SMEs จนประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจ Startup ด้านการเกษตรที่พัฒนาเครื่องมือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดและลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น เครื่องมือวัดสภาพน้ำและอากาศที่เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้นและมีความแม่นยำสูง ขณะเดียวกันธนาคารก็สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้าในโครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารที่ดำเนินโครงการมากว่า 18 ปี การเชื่อมโยงเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจ Startup ด้านการเกษตรสามารถก้าวหน้าไปได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย

นายศิริเดช กล่าวอีกว่า ธนาคารกรุงเทพยังมีศักยภาพด้านเครือข่ายธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจ Startup สามารถเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตลาดเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกัน กรณีที่ธุรกิจ Startup มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ธนาคารก็สามารถให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมได้ เช่นVenture Capital เงินกู้รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริษัท Bualuang Ventures ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่จะสามารถเข้าไปร่วมลงทุน หรือให้คำแนะนำ การสนับสนุน Startup ได้อีกทางหนึ่งด้วย

"โครงการนี้เป็นการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยธุรกิจ Startup ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยศึกษาวิเคราะห์ รวมถึงวางกรอบการพัฒนาในเบื้องต้นและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ จากนั้นธนาคารจะเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยวางกลยุทธ์ จัดทำแผนดำเนินงาน ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านวางแผนการบริหารการเงิน และเชื่อมโยงกับตลาด ตลอดจนช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่จะช่วยกันพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนรายกลางและเล็กในด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี กฎหมาย การตลาด การเงิน ระบบบัญชี และการจัดการอย่างเป็นระบบ" นายศิริเดชกล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาและก้าวไปสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" อย่างเต็มรูปแบบได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างบริบทของประเทศ การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ ผ่านการใช้ความชำนาญเฉพาะทางของแต่ละส่วนเพื่อเอื้อต่อการเกิดธุรกิจที่มีนวัตกรรมเป็นหัวใจหลัก

"ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ พัฒนานวัตกรรมจากความร่วมมือแลกเปลี่ยนในรูปแบบพี่ช่วยน้อง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นผู้ช่วยให้การสนับสนุนและคอยให้คำแนะนำในการวางแผนและต่อยอดธุรกิจ ด้วยการมีส่วนช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีนวัตกรรมเข้ามาผสมผสาน และมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เข้ากับบริษัทต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่า ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ธุรกิจและมีศักยภาพด้านเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็น "พี่เลี้ยง" คอยให้การสนับสนุนและให้ข้อแนะนำที่ควรนำมาปรับใช้ รวมไปถึงการสร้างและประสานความร่วมมือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายของธนาคาร เพื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ สามารถต่อยอดและเติบโตได้จริงอย่างมั่นคงและยั่งยืน" ดร.สมคิด กล่าว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่มุ่งพัฒนาสังคมไทยผ่านการให้บริการวิชาการอันเข้มแข็งโดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งเป้าสู่การเป็น "มหานครแห่งสตาร์ทอัพ" หรือ "สตาร์ทอัพดิสทริก"(Startup District) และการก้าวสู่มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมการจากวิจัย โดยยังมีงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจ และรอการสนับสนุนอยู่อีกมากกว่า 100 ราย โดยพบว่าในแต่ละปี งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยภายในสิ้นปี 2560 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนวัตกรรมเทคโนโลยีกว่า 50 ราย โดยมุ่งเน้นที่ 6 กลุ่มธุรกิจตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ดังต่อไปนี้ 1) กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มหุ่นยนต์ 4) กลุ่มบริการ 5) กลุ่มดิจิทัล และ 6) กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๕ FTI รับ 2 รางวัล จากกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2567
๑๔:๕๕ OKMD ร่วมกับ CMDF จัดประกวดประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน หนุนไอเดียเด็กมัธยม ต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม
๑๔:๓๐ แอลจีเผยเทรนด์ทำงานปี 2025 พร้อมเทคนิคใช้โน๊ตบุ๊กแบบสมาร์ทเวิร์กเกอร์
๑๔:๓๓ ทีเอ็มบีธนชาต สำรองธนบัตร 13,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
๑๔:๒๒ เจียไต๋แมน เมื่อรุ่นเดอะผนึกกำลังกับรุ่นใหม่ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
๑๔:๒๙ สุขภาพดีแบบไม่ต้องเดี๋ยว! รพ.วิมุต ชวนตรวจสุขภาพ - ปรับพฤติกรรมสไตล์คนไม่มีเวลาสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาวรับปีใหม่
๑๔:๕๐ HBA ส่องภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 68 เผชิญความท้าทายใหม่ เร่งงัดกลยุทธ์ฝ่าแข่งขันสูง รุกเจาะตลาดใหม่ 'รอจังหวะฟื้น'
๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี