ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งได้รับรางวัลระดับดีมาก ประเภทบทความวิจัย ในงานสัมมนาระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีที่มาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 85 ไม่ได้เข้ารับบริการทางการศึกษา ขณะที่มีคนพิการเพียงร้อยละ 15 หรือ 330,686 คน จากผู้พิการทั้งหมด 1.9 ล้านคน ที่ได้รับการศึกษา จากตัวเลขดังกล่าวแสดงในเห็นว่าคนพิการยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานคือ สิทธิทางการศึกษา แม้การศึกษาสำหรับคนพิการพัฒนามาว่า 60 ปี แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง อีกทั้งกระแสการพัฒนาที่เปลี่ยนไปการจัดการศึกษาที่ผ่านมาแสดงผลให้เห็นในเชิงปริมาณแล้ว ส่วนผลในเชิงคุณภาพพบว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการหลายด้าน เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยด้านการศึกษา มีข้อจำกัดด้านการจัดการเรียนร่วม คือ ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาพิเศษ ขาดแคลนงบประมาณ ขาดองค์ความรู้สอนเด็กพิเศษ ไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เหตุผลดังกล่าวถือว่าเป็นประเด็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนและท้าทายที่นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ดร.โสภณ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเรื่องจำนวนโรงเรียนเฉพาะทาง พบว่าโรงเรียนโสตศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีจำนวนมากที่สุด คือ 20 โรง ส่วนเด็กที่มีความพิการทางร่างกายและเด็กที่มีความพิการทางการเห็น สามารถเรียนร่วมได้ในโรงเรียนทั่วไป นอกจากนี้ สถิติข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2550 แสดงตัวเลขคนพิการวัยเรียนทั้งหมด มีจำนวนทั้งสิ้น 407,182 คน ซึ่งมีคนพิการวัยเรียนที่ได้รับบริการราว 276,147 คน แต่มีคนพิการวัยเรียนที่ไม่ได้รับบริการราว 131,035 คน คิดเป็นร้อยละ 32.18 โดยคนพิการทางการได้ยินไม่ได้รับบริการมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.78 ตนจึงสนใจที่จะศึกษาแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ในจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนให้ตอบสนองความต้องการจำเป็นพิเศษ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยพบว่าสภาพและปัญหาการจัดการศึกษาให้แก่คนกลุ่มดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ 1. ด้านหลักสูตร ไม่มีความยืดหยุ่น 2. ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ นักเรียนมีปัญหาการสื่อสารและความสามารถทางภาษาไทย อ่าน-เขียนต่ำ 3. ด้านสื่อการสอน มีสื่อไม่เพียงพอและไม่เหมาะกันคนพิการแต่ละประเภท และ 4. ด้านการวัดผลและประเมินผล นักเรียนทำคะแนนได้น้อยเพราะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้น แนวทางในการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงควรนำหลักสูตรแกนกลางของ กศน. มาวิเคราะห์แยกย่อยออกมาเป็นหลักสูตรเฉพาะความพิการ มีกลุ่มรายวิชาเลือกตามประเภทความพิการที่เหมาะสม การเลือกรายวิชาเลือกบังคับให้เหมาะกับประเภทความพิการ และตามความชอบของเด็ก ควรมีคู่มือหรือเอกสารประกอบการจัดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควรมีการประชุมและพัฒนาหลักสูตรตามประเภทความพิการอย่างสม่ำเสมอ ควรมีการติดตามการใช้หลักสูตร ประเมินผลหลักสูตร ควรมีการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนการสอนเฉพาะบุคคล
"ในการแก้ปัญหาควรมีหลักสูตรเฉพาะสำหรับความพิการแต่ละประเภท และเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งในด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ควรอบรมวิธีการสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ให้แก่ครูสอนคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรจัดให้มีการจ้างล่ามภาษามือมาช่วยแปลในห้องเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร และมีผู้ช่วยในการทบทวนบทเรียนให้คำปรึกษา และแนะนำการทำรายงานหรือการบ้าน เป็นที่ปรึกษาด้านภาษาไทยทั้งการอ่านและการเขียน มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการทำสื่อประกอบการเรียนการสอน และอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตสื่อและประยุกต์ใช้สื่อ ส่วนด้านการวัดและประเมินผลควรมีหลายวิธี และปรับเครื่องมือให้สอดคล้องและเหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียน ตลอดจนควรมีการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนพิการแต่ละประเภท ตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เพิ่มเวลาในการทำแบบทดสอบและเวลาในการทำงานของเด็กกลุ่มนี้มากขึ้นกว่าปกติ" ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กล่าว