นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการสำรวจวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตข้าวเจ้านาปี และข้าวเหนียวนาปีของภาคเหนือ โดยจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตตามความเหมาะสมทางกายภาพของพื้นที่ 2 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่เหมาะสม (S) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) รวม 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย เพื่อสนับสนุนโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2560
จากผลการวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนของ สศก. ที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า ข้าวเจ้านาปี เขตพื้นที่เหมาะสม (S) ต้นทุนการผลิต 4,920 บาทต่อไร่ ผลผลิต 736 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 6,658 บาทต่อตัน รายได้ 5,567 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 664 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) มีต้นทุนการผลิต 4,912 บาทต่อไร่ ผลผลิต 677 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 7,249 บาทต่อตัน รายได้ 5,082 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 170 บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนต่อตันจะสูงกว่าในพื้นที่เหมาะสม ทำให้ผลตอบแทนต่อไร่ที่ได้น้อยว่าในพื้นที่เหมาะสม
ข้าวเหนียวนาปี เขตพื้นที่เหมาะสม (S) ต้นทุนการผลิต 5,529 บาทต่อไร่ ผลผลิต 733 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 7,547 บาทต่อตัน รายได้ 8,853 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 3,324 บาทต่อไร่ ในขณะที่พื้นที่ไม่เหมาะสม (N) มีต้นทุนการผลิต 4,904 บาทต่อไร่ ผลผลิต 540 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 9,076 บาทต่อตัน รายได้ต่อไร่ 4,615 บาท ผลตอบแทน1,512 บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนต่อตันจะสูงกว่าในพื้นที่เหมาะสม ทำให้ได้ผลตอบแทนต่อไร่น้อยว่าในพื้นที่เหมาะสม
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ความเหมาะสมของดินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการตัดสินใจของเกษตรกรที่จะผลิตสินค้าใด โดยต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่ดีกว่า สอดคล้องกับความต้องการผลผลิตในระดับพื้นที่ หรือความต้องการของตลาดโดยรวม มีการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำข้อมูลเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยสำรวจจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนผลตอบแทนสินค้าเกษตรที่สำคัญ 4 ลำดับแรก ตามมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ซึ่งในปี 2560 ดำเนินการใน 48 จังหวัด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทน และจัดทำบัญชีสมดุลของสินค้านั้นของจังหวัด เพื่อทำข้อเสนอทางด้านนโยบายหรือยุทธศาสตร์ทางเลือกของจังหวัด ในการที่จะส่งเสริมหรือให้ข้อมูลกับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหรือผลิตสินค้าเกษตรทางเลือกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูล สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0 2561 2870 อีเมล [email protected]