นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปลานิลมีลักษณะการเลี้ยง 2 แบบ คือ เลี้ยงในกระชังและเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งการเลี้ยงปลานิลในกระชังส่วนใหญ่จะเลี้ยงบริเวณริมแหล่งน้ำธรรมชาติพื้นที่กระชังเฉลี่ย 27.80 ตารางเมตร และอัตราการปล่อยพันธุ์ปลา กระชังละ 1,100 ตัว มีระยะเวลาของการเลี้ยงนาน 5 เดือน จะใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยง ส่วนการเลี้ยงในบ่อดิน ขนาดบ่อเฉลี่ย 5 ไร่ อัตราการปล่อยพันธุ์ปลาประมาณ 3,500 ตัวต่อไร่ มีระยะเวลาของการเลี้ยงเฉลี่ยรุ่นละ 7 เดือน จะใช้อาหารสำเร็จรูป ร่วมกับอาหารผสม ได้แก่รำและเศษอาหาร
ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ได้ลงพื้นที่สำรวจส่วนต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนปลานิลใน 2 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา และชัยภูมิ พบว่า จังหวัดชัยภูมิ เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลในกระชัง ส่วนใหญ่เลี้ยงตามเขื่อนลำปะทาว และอ่างเก็บน้ำลำคันฉู ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 33,611 บาท/กระชัง หรือ 39.26บาท/กิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 47,860 บาท/กระชัง กำไร 14,249 บาท/กระชัง หรือ 16.64 บาท/กิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน เฉลี่ย 32,558 บาท/ไร่ หรือ 36 บาท/กิโลกรัม รายได้เฉลี่ย 36,077 บาท/ไร่ กำไร3,520 บาท/ไร่ หรือ 3.93 บาท/กิโลกรัม
นครราชสีมา พบว่า ต้นทุนการเลี้ยงปลานิลในกระชัง เฉลี่ย 57,250 บาท/กระชัง หรือ 51 บาท/กิโลกรัม รายได้เฉลี่ย 66,942 บาท/กระชัง กำไร 9,692 บาท/กระชัง หรือ 8.63 บาท/กิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน เฉลี่ย 22,655 บาท/ไร่ หรือ 30 บาท/กิโลกรัม รายได้เฉลี่ย 34,009 บาท/ไร่ กำไร 11,354 บาท/ไร่ หรือ 14.83 บาท/กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม พบปัญหาด้านการผลิตของเกษตรกร คือ ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าอาหาร ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของต้นทุนทั้งหมด รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ส่งผลให้ปลาตายเป็นจำนวนมากผลตอบแทนได้น้อยกว่าที่ควร การขาดแคลนพันธุ์ปลาในบางช่วงที่มีความต้องการลูกปลากันมาก ทำให้พันธุ์ปลามีราคาสูงขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร 044-465120 หรือ e-mail: [email protected]